ประสิทธิผลของรูปแบบการพัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพกระดูกและข้อของหญิงตั้งครรภ์โรงพยาบาลเลิดสิน
แสงสุรีย์ ทัศนพูนชัย*, ลักขณา สิริรัตนพลกุล, ละไม แก้วอำไพ
กลุ่มภารกิจบริการวิชาการ โรงพยาบาลเลิดสิน
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาแบบทดลอง โดยการสุ่ม 2 กลุ่ม เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการพัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพกระดูกและข้อของหญิงตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลเลิดสิน จำนวน 92 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมจำนวนเท่ากัน โดยกลุ่มทดลองได้รับการพัฒนาการดูแลสุขภาพกระดูกและข้อรูปแบบที่ 1 กลุ่มควบคุมได้รับการพัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพกระดูกและข้อรูปแบบที่ 2 เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2547 – วันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2548 โดยใช้แบบสอบถามที่ผ่านการตรวจคุณภาพของเครื่องมือจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามความรู้ การรับรู้ความสามารถของตนเอง และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพกระดูกและข้อ 0.8, 0.8 และ 0.7 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พิสัย Chi-square test, Fisher’s exact test, paired t test และ t-test ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 มีคะแนนเฉลี่ยความรู้ การรับรู้ความสามารถของตนเองและพฤติกรรมการดูแลสุขภาพกระดูกและข้อหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) และพบว่า กลุ่มทดลองมีผลต่างของคะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้าน สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) จึงควรนำรูปแบบการพัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพกระดูกและข้อไปประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ตามความเหมาะสมต่อไป
 
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2552, July ปีที่: 34 ฉบับที่ 7 หน้า 555-562
คำสำคัญ
Pregnant women, หญิงตั้งครรภ์, Skeletons and Joints Care, การดูแลสุขภาพกระดูกและข้อ