ประสิทธิภาพการห้ามเลือดที่แผลผิวหนังตัดเพื่อการถ่ายปลูก เปรียบเทียบวัสดุอนุพันธ์ไฆโทซานกับวัสดุทางการค้า : การศึกษาเบื้องต้น
บุญล้อม ถาวรยุติการต์, วนิดา จันทร์วิกูล, วาสนา โคสอน, ไพโรจน์ สุรัตนวนิช*
แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลอ่างทอง
บทคัดย่อ
                การศึกษาทดลองเบื้อต้นครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการห้ามเลือดของวัสดุห้ามเลือดจากอนุพันธ์ไฆโทซาน กับวัสดุทางการค้า 2 ชนิด คือ SPONGASTAN ®Standard และ Algisite-M ในแผลผู้ป่วยที่เกิดจากการตัดผิวหนังเพื่อถ่ายปลูก 8 คน ที่โรงพยาบาลอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ในช่วงเดือนมิถุนายน 2551- พฤศจิกายน 2551 โดยทำการปิดวัสดุบนแผลแบบสุ่มจากปลายเท้าไปทางศีรษะ ปิดทับวัสดุด้วยผ้าก๊อซ และกดทับวัสดุทั้งหมดด้วยมืออย่างเบาๆ 5 และ 8 นาที สังเกตการณ์หยุดไหลของเลือดเมื่อถึงเวลาที่กำหนด และหลังจากเปิดแผลทิ้งไว้ 30 วินาที พร้อมทั้งบันทึกภาพบาดแผลที่เวลา 5 นาที, 5 นาที 30 วินาที, 8 นาที และ 8 นาที 30 วินาที และบันทึกน้ำหนักของวัสดุทดสอบและผ้าก๊อซหลังการทดสอบ เพื่อคำนวณหาปริมาณเลือดที่สูญเสีย จากการศึกษาพบว่า ปริมาณเลือดที่สูญเสียที่วัดได้ในวัสดุทดสอบเรียงลำดับจากน้อยไปมาก พบในแผลที่ปิดด้วย SPONGASTAN ®Standard, Algisite-M และวัสดุห้ามเลือดต้นแบบของ MTEC ในขณะที่ปริมาณเลือดที่สูญเสียที่วัดได้ในผ้าก๊อซที่ปิดทับวัสดุทดสอบเรียงลำดับจากน้อยไปมาก พบในแผลที่ปิดด้วยวัสดุห้ามเลือดต้นแบบของ MTEC, SPONGASTAN ®Standard และ Algisite-M แต่โดยรวมแล้วปริมาณเลือดที่สูญเสียรวมไม่มีความแตกต่างในระหว่างกลุ่มทดสอบโดยนัยสำคัญทางสถิติ แต่จากการสังเกตและบันทึกภาพผลการห้ามเลือดที่เวลา 8 นาที พบว่า ในขณะที่เปิดแผลทิ้งไว้เป็นเวลา 30 วินาที แผลที่ปิดด้วยวัสดุห้ามเลือดต้นแบบของ MTEC มีเลือดซึมออกมาปริมาณน้อยมาก เมื่อเที่ยบกับแผลที่ปิดด้วยวัสดุทางการค้าทั้ง 2 ชนิด
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2552, January-March ปีที่: 3 ฉบับที่ 1 หน้า 69-75
คำสำคัญ
Algisite-M, split-thickness skin graft, Chitosan derivative-based material, Hemostatic efficacy, SPONGOSTAN®Standard, ประสิทธิภาพการห้ามเลือด, วัสดุอนุพันธ์ไฆโทซาน, แผลผิวหนังตัดเพื่อการถ่ายปลูก