การรักษาโรคปริทันต์อักเสบแบบเรื้อรังด้วยการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันร่วมกับการให้ยาโทรนิดาโซลเจล: การศึกษานำร่อง
กาญจน์พิมล ฤทธิเดช, กิตติ ต. รุ่งเรือง, จินตกร คูวัฒนสุชาติ, นวลฉวี หงษ์ประสงค์, พาคินทร์ วาทิน*Department of Periodontology, Faculty of Dentistry, Chulalongkorn University
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของยาเมโทรนิดาโซลเจล ความเข้มข้นร้อยละ 2 ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย เมื่อให้ร่วมกับการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน ในการรักษาผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบแบบเรื้อรังวัสดุและวิธีการ คัดเลือกผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบแบบเรื้อรังจากคลินิกปริทันตวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 26 คน ที่มีฟันที่มีร่องลึกปริทันต์ 6-8 มิลลิเมตร และไม่มีโรคทางระบบ ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่กลุ่มสเตียรอยด์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และได้รับการรักษาโรคปริทันต์อักเสบในขั้นแรกโดยการขูดหินน้ำลาย เกลารากฟันและสอนวิธีดูแลอนามัยช่องปากมาแล้ว แบ่งกลุ่มฟันตัวอย่างด้วยการสุ่มแบบง่าย ได้แก่ กลุ่มทดลอง (ขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันร่วมกับการให้ยาเมโทรนิดาโซลเจล) และกลุ่มควบคุม (ขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันร่วมกับการให้ยาหลอก) ทั้งสองกลุ่มจะได้รับการใส่ยาวันเว้นวัน รวม 3 ครั้ง และวัดค่าทางคลินิก ได้แก่ ดัชนีอาการเลือดออก ความลึกของร่องลึกปริทันต์ ระยะเหงือกร่น และระดับการยืดทางคลินิก ที่ระยะเวลาก่อนให้การรักษา และหลังการรักษาในเดือนที่ 3 และ 6 ที่ตำแหน่งลึกที่สุดของซี่ฟัน โดยใช้ชิ้นปิดบนด้านบดเคี้ยวเป็นตัวกำหนดตำแหน่งอ้างอิง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ การทดสอบยูของแมนวิทนีย์ การทดสอบไคสแควร์ และการทดสอบของวิลคอกซัน ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95ผลการศึกษา ลักษณะทางคลินิกของทั้งสองกลุ่มการรักษาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระยะเวลาหลังการรักษา 6 เดือน ความลึกของร่องลึกปริทันต์เฉลี่ยลดลง 1.30 มิลลิเมตร และระดับการยึดทางคลินิกเพิ่มขึ้นถึง 1.10 มิลลิเมตรในกลุ่มทดลอง ขณะที่ในกลุ่มควบคุมมีค่าเป็น 0.56 มิลลิเมตร และ 0.50 มิลลิเมตร ตามลำดับ และพบว่าในกลุ่มทดลอง ค่าความลึกของร่องลึกปริทันต์ที่ลดลงในระหว่าง 0 ถึง 6 เดือน และค่าดัชนีอาการเลือดออกที่ลดลงในระหว่าง 3 ถึง 6 เดือน มีความแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติสรุป จากผลการศึกษานำร่องนี้ แสดงให้เห็นว่าการให้ยาเมโทรนิดาโซลเจล ความเข้มข้นร้อยละ 2 ร่วมกับการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน ให้ผลดีในการรักษาโรคปริทันต์อักเสบแบบเรื้อรัง แต่ก็ยังมีการศึกษาและพัฒนาตัวยาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป
ที่มา
วารสารทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2552, May-August
ปีที่: 32 ฉบับที่ 2 หน้า 133-142
คำสำคัญ
Chronic periodontitis, Cocal delivery antibiotic, Metronidazole gel, ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่, เมโทรนิดาโซลเจล, โรคปริทันต์อักเสบแบบเรื้อรัง