การศึกษาเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย ประสิทธิภาพ และผลแทรกซ้อนของยาทารักษาฝ้าซึ่งผลิตโดยสถาบันโรคผิวหนังกับยาทารักษาฝ้านำเข้าจากต่างประเทศ
นิรมล วัชระรังษี, วลัยอร ปรัชญาพฤทธิ์, สุภา สุปัญญา
Department of Pharmaceutical, Institute of Dermatology
บทคัดย่อ
กลุ่มงานเภสัชกรรมและกลุ่มงานไบโอเอ็นจิเนียริง สถาบันโรคผิวหนัง ได้ศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยารักษาฝ้าที่ผลิตโดยสถาบันโรคผิวหนังกับยาทาฝ้านำเข้าจากต่างประเทศ ผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น รวมทั้งมูลค่าและปริมาณยาที่ใช้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปริมาณและค่าใช้จ่ายยาทาฝ้าที่สถานบันโรคผิวหนัง ให้บริการผู้ป่วยตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ.2546-พ.ศ. 2551 วัดประสิทธิภาพและผลแทรกซ้อนของยาทารักษาฝ้าของสถาบันโรคผิวหนังเปรียบเทียบกับยาทาฝ้านำเข้าจากต่างประเทศด้วยเครื่องมือ ไปโอเอ็นจิเนียริง โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ส่วน 1)ศึกษาฐานข้อมูลย้อนหลังของผู้ป่วยที่มารับการรักษาฝ้า โดยศึกษาปริมาณมูลค่าและแนวโน้มการจ่ายยาทารักษาฝ้าแต่ละชนิด 2) ศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพผลแทรกซ้อนของยารักษาฝ้าตำรับสถาบันโรคผิวหนัง ซึ่งประกอบด้วย ไฮโดรควิโนน ร้อยละ 4 ผสมกับ ไตรแอมซิโนโลน ร้อยละ 0.02 ในหลอดเดียวกัน ทาร่วมกับครีมอนุพันธ์วิตามินเอ เตรตติโนอิน ร้อยละ 0.05 เปรียบเทียบกับยาทาฝ้านำเข้าจากต่างประเทศ (ครีมยาทาฝ้าครีมไตรลูมา) ซึ่งประกอบด้วย ยาไฮโดรควิโนน ร้อยะ 4, เตรตติโนอิน ร้อยะ 0.05, ฟลูโอซิโนโลนครีม อะซีโดไนด์ ร้อยละ 0.01ในผู้ป่วยหญิงไทย ผลการศึกษา: ส่วนที่ 1 พบว่าผู้ป่วยฝ้ามารับบริการที่สถาบันโรคผิวหนัง เฉลี่ยปีละ 300 ราย ยาทาฝ้าที่มีการสั่งจ่ายสูงสุด คือ ยารักษาฝ้า ไฮโดรควิโนน ร้อยละ 3 ผสมกับ ไตรแอมซิโนโลนร้อยละ 0.02 ส่วนยาทาฝ้ายาทาฝ้าครีมไตรลูมาซึ่งเพิ่งนำมาใช้ในสถานบันโรคผิวหนัง อยู่อันดับที่ 4 และแพทย์มีแนวโน้มใช้ยารักษาฝ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณยา 1 กรัม พบว่ายาทารักษาฝ้านำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาสูงกว่ายาฝ้าสถาบันโรคผิวหนังเกือบ 8 เท่า ส่วนที่ 2 มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการครบกำหนด 34 ราย อายุเฉลี่ย 45.5 ±7.3 ปี ส่วนใหญ่เป็นฝ้าบริเวณแก้ม หลังการทายารักษาฝ้า 8 สัปดาห์ ยาสถาบันโรคผิวหนัง สามารถลดความเข้มของฝ้าได้ 77.13±48.15 หน่วย (a.u.) และยาทาฝ้าครีมทาฝ้าครีมไตรลูมาลดได้ 68.28±58.05 หน่วย (a.u.) อาสาสมัครเกิดผลแทรกซ้อน เช่น ผิวแห้ง/ลอก แดงจากหลอดเลือดฝอยขยาย มีอาการเพียงเล็กน้อย แก้มด้านที่ใช้ยาทาฝ้าของสถาบันโรคผิวหนัง มีอาการแทรกซ้อน 17 ราย (ร้อยละ 50) และด้านที่ใช้ยาฝ้ายาทาฝ้าครีมไตรลูมา 19 ราย (ร้อยละ 59) อย่างไรก็ตามเมื่อวัดด้วยเครื่องมือวัดเม็ดสี ด้านทายาฝ้าครีมทาฝ้าครีมไตรลูมามีผิวแก้วแดงมากกว่ายารักษาฝ้าของสถาบันโรคผิวหนัง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุปประสิทธิภาพในการลดเม็ดสีและการเกิดผลแทรกซ้อนของตำรับยาที่ผลิต โดยกลุ่มงานเภสัชกรรมและยาทาฝ้านำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ต่างกัน แต่ยาของสถาบันโรคผิวหนังมีราคาถูกกว่า และทำให้หลอดเลือดฝอยขยายน้อยกว่า 
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2552, February ปีที่: 34 ฉบับที่ 2 หน้า 142-149
คำสำคัญ
Efficacy, ประสิทธิภาพ, Hydroquinone, Melasma, TrilumaÒ, ฝ้า, ยาทาฝ้าครีมไตรลูมา, ไฮโดรควิโนน