การป้องกันภาวะเสื่อมหน้าที่ของไตอย่างฉับพลันที่เกิดขึ้นจากการได้รับสารทึบรังสีโดยวิตามิน อี (แอลฟา โทโคฟีรอล): การศึกษาเบื้องต้นโดยการควบคุมแบบสุ่ม
ดิลก ภิยโยทัย, ศุภชัย ฐิติอาชากุล, อดิศว์ ทัศณรงค์*Nephrology Unit, Department of Medicine, Faculty of Medicine, Thammasat University (Rangsit Campus), Klong Nung, Klong Luang, Pathumtani 12121, Thailand. Phone: 0-2926-9793, Fax:0-2926-9793, E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: ภาวะเสื่อมหน้าที่ของไตอย่างฉับพลันที่เกิดขึ้นจากการได้รับสารทึบรังสีนำมาซึ่ง การเพิ่มขึ้นของอัตราการบาดเจ็บ และอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูหลอดเลือดหัวใจ สารทึบรังสีนี้ทำให้เกิดการเสื่อมหน้าที่ของไตอย่างฉับพลัน โดยการกระตุ้นให้เกิดการสร้าง reactive oxygen species เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการศึกษานี้ จึงออกแบบมาเพื่อทำการพิสูจน์ผลของการให้วิตามิน อี (แอลฟา โทโคฟีรอล) เพื่อป้องกันการเสื่อมหน้าที่ของไตอย่างฉับพลันในผู้ป่วยที่ได้รับสารทึบรังสีเหล่านี้วัสดุและวิธีการ: คณะผู้นิพนธ์ได้ออกแบบการศึกษาแบบไปข้างหน้าโดยการควบคุมแบบสุ่มในการให้วิตามิน อี และยาหลอก ในผู้ป่วยจำนวน 103 ราย ที่มีระดับซีรัมครีเอตินินมากกว่าหรือเท่ากับ 1.2 มก./ดล. หน้าที่การทำงานของไตต่ำกว่าหรือเท่ากับ 60 มล./นาที/1.73 ม2 และมีความจำเป็นจะต้องได้รับการฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูหลอดเลือดหัวใจผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อที่จะได้รับ วิตามิน อี (แอลฟา โทโคฟีรอล) 525 IU หรือยาหลอก โดยการรับประทานที่ 48 ชั่วโมง, 24 ชั่วโมง และในตอนเช้าของวันที่จะได้รับการฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูหลอดเลือดหัวใจผลการศึกษา: พบผู้ป่วยที่มีการเสื่อมหน้าที่ของไตอย่างฉับพลันจากการได้รับสารทึบรังสีในผู้ป่วยกลุ่ม ที่ได้รับวิตามิน อี ร้อยละ 5.88 (3 รายใน 51 ราย) และร้อยละ 23.08 (12 รายใน 52 ราย) ในผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (odds ratio [OR], 0.21; 95% confidence interval [CI], 0.05 to 0.79; p = 0.02) ระดับซีรัมครีเอตินินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติในผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยาหลอกโดยเพิ่มขึ้นจาก 1.67 ± 0.53 เป็น 1.9 ± 0.87 มก./ดล. (p = 0.02) แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงในผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับวิตามิน อี โดยมีค่าเท่ากับ 1.62 ±0.44 เป็น 1.64 ± 0.59 มก./ดล. (p = 0.74) รวมทั้งผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน, ภาวะซีด, หรือได้รับสารทึบรังสีปริมาณมากกว่า 120 มล. พบว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับวิตามิน อี มีอัตราการเกิดไตเสื่อมอย่างฉับพลัน ภายหลังการได้รับสารทึบรังสี ต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05)สรุป: การให้วิตามิน อี (แอลฟา โทโคฟีรอล) สามารถป้องกันการเกิดภาวะไตเสื่อมอย่างฉับพลันในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจโดยการฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูหลอดเลือดหัวใจ
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2552, October
ปีที่: 92 ฉบับที่ 10 หน้า 1273-1281
คำสำคัญ
Alpha-Tocopherol, Contrast induced nephropathy (CIN), Coronary procedures, Vitamin E