การเปรียบเทียบปริมาตรของก๊าซระหว่างการใช้ท่อหลอดลมคอที่ประดิษฐ์ขึ้นกับการใช้ท่อหลอดลมคอโลหะในการระงับความรู้สึกผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบนด้วยแสงคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์
จีระสุข จงกลวัฒนา, ธารทิพย์ ประณุทนรพาล, พรรษมน เผดิมวงศ์, สิริลักษณ์ วุฑฒิกรรมรักษา, สุมิตรา เชาวนโยธิน*Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700
บทคัดย่อ
บทนำ : ภาวะแทรกซ้อน ที่อันตรายมากที่สุดในการระงับความรู้สึกผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบนด้วยแสงเลเซอร์ คือ การติดไฟในทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากการที่สารที่ติดไฟได้ถูกยิงด้วยแสงเลเซอร์ สารที่ติดไฟได้เหล่านี้ได้แก่ ท่อหายใจ สำลีที่ใช้ซับเลือดเป็นต้น เพื่อลดอุบัติการณ์นี้ควรใช้ท่อหายใจที่เป็นโลหะ แต่ท่อเหล่านี้มีราคาแพง ประมาณท่อละ 4,700 บาท เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ในผู้ป่วยที่ต้องหายใจผ่านท่อหลอดลมคอโลหะ (metal tracheostomy tube) เนื่องจากมีการอุดตันหรืออุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน กลุ่มผู้วิจัยจึงได้เลือกใช้ท่อหลอดลมคอโลหะของผู้ป่วยเองในการระงับความรู้สึก โดยต่อท่อหลอดลมคอชั้นนอกกับวงจรดมยาสลบด้วยท่อหายใจชนิด PVC แต่ก็พบว่าจะเกิดปัญหาจากการรั่วไหลของก๊าซออกสู่บรรยากาศของห้องผ่าตัด และต้องใช้ก๊าซที่ใช้ในการระงับความรู้สึก เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาจจะพบการสำลัก เลือด, เนื้อเยื่อ, หรือควันเข้าสู่ทางเดินหายใจ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ กลุ่มผู้วิจัยจึงได้ประดิษฐ์ท่อหายใจขึ้นมาใหม่ โดยใช้การตัดลูกโป่งของ Foley catheter สวมเข้ากับท่อชั้นนอกของท่อหลอดลมคอโลหะ ที่ไม่ใช้แล้วให้แน่น เพื่อทำหน้าที่เป็น cuff ของท่อ จุดประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้คือความต้องการที่จะพิสูจน์ว่าท่อหลอดลมคอที่ประดิษฐ์ขึ้นสามารถที่จะช่วยลดปริมาณก๊าซที่ใช้ในการระงับความรู้สึก, ลดการรั่วไหลของก๊าซออกสู่บรรยากาศของห้องผ่าตัด, รวมทั้งลดการสำลัก เลือด, เนื้อเยื่อ, หรือควันเข้าสู่ทางเดินหายใจ ได้หรือไม่ โดยไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย คือ การติดไฟในทางเดินหายใจ วิธีการศึกษา : การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มไปข้างหน้า โดยใช้ผู้ป่วย 32 คน ASA class 1 และ 2 เป็นผู้ป่วยที่ต้องหายใจผ่านท่อหลอดลมคอโลหะ โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอก ≥ 7 มม.หรือท่อหลอดลมคอโลหะ ≥ เบอร์ 3 และมารับการดมยาสลบ เพื่อผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบนด้วยแสงคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ สุ่มผู้ป่วยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 16 คน คือกลุ่มควบคุม และกลุ่มศึกษา กลุ่มควบคุมจะให้การระงับความรู้สึก ผ่านท่อหลอดลมคอของผู้ป่วย แต่กลุ่มศึกษาจะให้การระงับความรู้สึก ผ่านท่อหายใจที่ประดิษฐ์ขึ้นวัด cuff pressure ทุก 30 นาที ถ้าสูงกว่า 22 มม.ปรอท ให้ deflate cuff นาน 5นาที ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มได้รับยาระงับความรู้สึก ที่เหมือนกันคือ fentanyl, midazolam, propofol หยดเข้าหลอดเลือดดำ ยกเว้นยาหย่อนกล้ามเนื้อ ในกรณีที่ระยะเวลาการผ่าตัดน้อยกว่า 30 นาทีผู้ป่วยจะได้รับ succinyl choline แต่ถ้าระยะเวลาการผ่าตัดมากกว่า 30 นาที ผู้ป่วยจะได้รับ atracurium บันทึกอัตราการไหลของก๊าซ และเวลาที่ใช้ นำมาหาค่าเฉลี่ย, บันทึกการรั่วไหลของก๊าซในกลุ่มศึกษา, บันทึกความดันเลือด systolic และ diastolic, บันทึก airway pressure และ cuff pressure ขณะผ่าตัดสังเกตภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ท่อทั้งสองชนิด เช่น การติดไฟในทางเดินหายใจ, oxygen desaturation, inadequate ventilation, การสำลักควัน เลือด และ เศษเนื้อเยื่อ เข้าสู่ทางเดินหายใจ เป็นต้น ผลการศึกษา: ท่อหลอดลมคอที่ประดิษฐ์ขึ้นสามารถลดปริมาณของก๊าซที่ใช้ในการระงับความรู้สึก,ไม่พบการสำลักเลือด, เนื้อเยื่อ และควันเข้าสู่ทางเดินหายใจ และไม่พบการติดไฟของทางเดินหายใจ แต่พบว่า airway pressure และ cuff pressure สูง สรุป: ท่อหลอดลมคอที่ประดิษฐ์ เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ท่อหายใจที่มีราคาแพง, ลดการสูญเสียก๊าซที่ใช้ในการระงับความรู้สึก, และอาจช่วยลดมลภาวะที่เป็นพิษในห้องผ่าตัดได้ แต่ก็ต้องระวังผลเสียที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ airway pressure ที่สูงขึ้น, รวมถึง cuff pressure ที่สูงอาจจะเกิดอันตรายต่อ tracheal mucosa ได้
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2553, April-June
ปีที่: 36 ฉบับที่ 2 หน้า 111-123
คำสำคัญ
Carbon dioxide laser, Foley catheter, Gas flow rate, Metal tracheostomy tube, คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์, ท่อหลอดลมคอโลหะ, อัตราการไหลของก๊าซ