ผลของการให้ข้อมูลต่อปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ป่วยขณะส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร
นินธนาวิมลกิตติวัฒน์*, สมพร ชินโนรสภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของการให้ข้อมูลเรื่องขั้นตอนการตรวจความรู้สึกที่ผู้ป่วยอาจต้องประสบจากการตรวจ และคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมของผู้ป่วยขณะรับการตรวจ ต่อปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ป่วยเกี่ยวกับความปวด ความทุกข์ทรมาน และชีพจรในระหว่างการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยชายหญิง ที่ได้รับการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ณ หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 60 คน และได้รับการสุ่มเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 คน กลุ่มทดลอง ได้รับข้อมูลตามแผนการทดลองจากผู้วิจัยด้วยการอธิบายประกอบสไลด์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับข้อมูลตามปกติ ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวัดชีพจรของผู้ป่วยภายหลังจากแพทย์ใส่กล้องตรวจกระเพาะอาหารเสร็จ 1 นาที และประเมินความปวดและความทุกข์ทรมานภายหลังตรวจเสร็จทันที โดยใช้แบบวัดความปวดและความทุกข์ทรมานของจอห์นสัน
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความปวด ความทุกข์ทรมานและชีพจรเฉลี่ยขณะรับการส่องกล่องตรวจกระเพาะอาหาร น้อยกว่าผู้ป่วยกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .01, <.01 และ <.001 ตามลำดับ) ผลการวิจัยนี้สนับสนุนความตรงของทฤษฎีการปรับตนเองของลีเวนทาลและจอห์นสันที่ว่า การให้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมเกี่ยวกันสถานการณ์ที่มาคุกคาม จะมีผลช่วยให้บุคคลสามารถปรับตนเองเพื่อเผชิญกับเหตุการณ์นั้นได้อย่างเหมาะสม และมีปฏิกิริยาตอบสนองทางด้านอารมณ์และความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์ลดลง
ที่มา
วารสารวิจัยทางการพยาบาล ปี 2542, October-December
ปีที่: 48 ฉบับที่ 4 หน้า 246-252
คำสำคัญ
pain, Distress, Gastroscopy, Information, Self-regulation