การประเมินประสิทธิภาพของการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรในโรงพยาบาลชุมชน: กรณีศึกษาใน โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
อาทร ริ่วไพบูลย์*, ชะอรสิน สุขศรีวงศ์, ณัฐญา ปานสังข์
Faculty of Pharmacy, Mahidol University
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบตัดขวาง เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรในโรงพยาบาลชุมชนในมุมมองของหน่วยผลิต ใช้ข้อมูลของโรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปีงบประมาณ ๒๕๔๖ โดยเก็บข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม ถึงมีนาคม ๒๕๔๗ ทำการประเมินประสิทธิภาพ โดยการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ การคำนวณหาระยะเวลาการคืนทุน และการประเมินผลิตภาพในการผลิตในการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ เพื่อประเมินความคุ้มค่าของโครงการนั้น ต้นทุน-ผลได้ เพื่อประเมินความคุ้มค่าของโครงการนั้น ต้นทุนของการผลิตคำนวณโดยวิธีวิเคราะห์ต้นทุนแบบมาตรฐานซึ่งครอบคลุมทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนทางอ้อม สำหรับผลได้ คำนวณจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ส่วนการประเมินผลิตภาพใช้ดัชนีชี้วัดที่จำทำโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ โดยทำการเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนปัจจุบันขนาดเล็ก                ในปีงบประมาณ ๒๕๔๖ โรงพยาบาลอู่ทองมีการผลิตผลิตภัณฑ์สุมนไพรทั้งสิ้น ๗๖ รายการ คิดเป็นต้นทุนทั้งสิ้น ๒,๓๒๒,๕๒๑ บาท และมีรายได้ ๒,๔๒๒,๘๔๘ บาท ทำให้มีผลได้สุทธิเท่ากับ ๑๐๐,๓๒๖ บาท และสัดส่วนผลได้ต่อต้นทุนเท่ากับ ๑.๐๔ มีระยะเวลาในการคืนทุนคือ ๒ ปี ๖ เดือน ส่วนการประเมินความสามารถในการผลิตพบว่าการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมประเภทใช้แรงงานเป็นหลัก และมีความสามารถในการใช้ทรัพยากรเพื่อสร้างผลกำไร เท่ากับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนปัจจุบันภาคเอกชน สำหรับการทดสอบความไวพบว่าการเปลี่ยนแปลงอัตราการปรับลดเป็นร้อยละ ๐ และ ๓ ไม่มีผลทำให้ผลได้สุทธิติดลบ แต่การเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐ ของราคาวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตมีผลทำให้ผลได้สุทธิติดลบ สำหรับระยะเวลาการคืนทุนเมื่อสมมติว่าการผลิตสมุนไพรเป็นการเริ่มลงทุนใหม่ในปีงบประมาณ ๒๕๔๖ พบว่ามีระยะเวลาการคืนทุน ๖ ปี ๕ เดือน                การศึกษาครั้งนี้แสดงว่าการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นค่อนข้างคุ้มค่า มีระยะเวลาในการคืนทุนที่ค่อนข้างสั้น และมีความสามารถในการสร้างผลกำไรเท่ากับผู้ผลิตรายอื่น อย่างไรก็ตาม ในการนำผลการศึกษาในครั้งนี้ไปใช้กับที่อื่น มีบางประเด็นที่ต้องตระหนักถึงคือ หน่วยผลิตที่ทำการศึกษานี้ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานกระบวนการผลิตที่ดี (GMP) และไม่มีค่าใช้จ่ายด้านการตลาด
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2548, July-August ปีที่: 14 ฉบับที่ 4 หน้า 631-639
คำสำคัญ
Evaluation, Cost-benefit analysis, Efficiency, ประสิทธิภาพ, การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้, Herbal production, Community hospital, Payback period, Productivity, การประเมิน, การผลิตผลิตภัณฑ์, ผลิตภาพ, ระยะเวลาคืนทุน, สมุนไพร, โรงพยาบาลชุมชน