การศึกษาเบื้องต้นของผลของสารสกัดมาตรฐานบัวบก อีซีเอ 233 ต่อโรคแผลร้อนในชนิดไม่รุนแรง
ชลันดากร เรืองประเสริฐกิจ*, นวลฉวี หงษ์ประสงค์, บุญยงค์ ตันติสิระ, มยุรี ตันติสิระInterdepartmental Program of Pharmacology, Graduate School, Chulalongkorn University
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: การศึกษานำร่องเพื่อดูผลของสารสกัดมาตรฐานบัวบก อีซีเอ 233ในรูปของยาป้ายปาก ต่อแผลร้อนในชนิดไม่รุนแรงวัสดุและวิธีการ: ทดลองโดยวิธีการสุ่มคัดเลือกและมียาหลอกเป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างที่เป็นแผลร้อนในชนิดไม่รุนแรง จำนวน 24 ราย ได้รับการสุ่มคัดเลือกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มการทดลอง คือ กลุ่มที่ได้รับยาป้ายอีซีเอ 233 ความเข้มข้นร้อยละ 0.05 0.10 และ 0.20 และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยในวันที่เริ่มเข้าร่วมโครงการ อาสาสมัครจะได้รับยาป้ายปากซึ่งมีอีซีเอ 233 ในความเข้มข้นร้อยละ 0.00 (ยาหลอก) 0.05 0.10 และ 0.20 โดยให้ป้ายยาวันละ 3 ครั้ง (หลังอาหารเช้า กลางวัน และก่อนนอน) เป็นระยะเวลา 10 วัน หรือจนกว่าแผลจะหาย อาสาสมัครจะเป็นผู้บันทึกข้อมูลประจำวัน อันได้แก่ ระดับความปวดและขนาดของแผล โดยผู้วิจัยจะนัดตรวจติดตามผลเพื่อประเมินการหายของแผลและอาการไม่พึงประสงค์อันอาจเกิดจากการใช้ยาในวันที่ 3 และ 10 จากนั้นวิเคราะห์ผลโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยในแต่ละกลุ่มด้วยการเปรียบเทียบเชิงซ้อนชนิดเลส ซิกนิฟิแคนท์ ดิฟเฟอเรนซ์ผลการศึกษา: อาสาสมัครจำนวน 24 ราย ซึ่งผ่านเกณฑ์การคัดเลือกได้เข้าร่วมโครงการวิจัยจนเสร็จสิ้น เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดแผลในวันที่เริ่มเข้าร่วมโครงการพบว่าในกลุ่มที่ได้รีบยาหลอกขนาดแผลจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 9 ในขณะที่กลุ่มซึ่งได้รับยาป้ายที่มีอีซีเอ 233 ในความเข้มข้นร้อยละ 0.05 0.10 และ 0.20 สามารถลดขนาดแผลได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตั้งแต่วันที่ 2 6 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการลดลงของค่าเฉลี่ยของระดับความปวด ที่พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวันที่เริ่มเข้าร่วมโครงการ กลุ่มซึ่งได้รับยาป้ายปากที่มีอีซีเอ 233 ในความเข้มข้นร้อยละ 0.05 0.10 และ 0.20 สามารถลดระดับความปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตั้งแต่วันที่ 2 4 และ 3 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มซึ่งได้รับยาหลอก ระดับความปวดจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตั้งแต่วันที่ 6 จากการศึกษานี้ยังพบว่ายาป้ายปากที่มีอีซีเอ 233 สามารถลดระดับขอบแดงของแผลได้ โดยในวันที่ 10 กลุ่มที่ได้รับยาป้ายปากที่มีอีซีเอ 233 ทุกกล่าจะไม่พบการอักเสบของแผล ขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอกนั้นยังคงพบระดับการอักเสบของแผลอยู่เล็กน้อย และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ป้ายปากที่มีอีซีเอ 233 แต่อย่างใดสรุป: การศึกษาฤทธิ์เบื้องต้นของอีซีเอ 233 ในรูปของยาป้ายปากในครั้งนี้เป็นการศึกษาครั้งแรกที่แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของอีซีเอ 233 ในการลดระดับความปวด ระดับการอักเสบ และขนาดของแผลร้อนในชนิดไม่รุนแรง ควรจะมีการศึกษาต่อไปเพื่อพัฒนาสารทดสอบดังกล่าวมาใช้ในการรักษาแผลร้อนในชนิดไม่รุนแรง
ที่มา
วารสารทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2553, May-August
ปีที่: 33 ฉบับที่ 2 หน้า 131-142
คำสำคัญ
Centella asiatica, ECa 233, MiRAU, Ulcer size, ขนาดแผล, บัวบก, อีซีเอ 233, แผลร้อนในชนิดไม่รุนแรง