ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ที่รับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดนครราชสีมา
ยุภาพรรณ มันกระโทก, วิทยา กุลสมบูรณ์, หทัยรัตน์ โคตรสมพงษ์*Nonthai Hospital, Nakhon Ratchasima
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดระดับคุณภาพชีวิต และพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ที่รับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดนครราชสีมา ทำการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1-31 มีนาคม 2553 จากผู้ป่วยนอกที่ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ที่โรงพยาบาลชุมชน จำนวน 24 แห่ง ในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 360 ราย อายุตั้งแต่ 23-44 ปี สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ และมารักษาต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน เครื่องมือที่ใช้มีลักษณะคำถามแบบเลือกตอบ ประกอบด้วย แบบวัด 5 ส่วน ได้แก่ แบบวัดความร่วมมือในการกินยา (α = 0.86), แบบวัดอาการที่สัมพันธ์กับเอชไอวีในด้านความถี่และความรุนแรง (α = 0.89), แบบวัดพฤติกรรมการดูแลตนเอง (α = 0.80), แบบวัดแรงสนับสนุนทางสังคม (α = 0.84) และแบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทย (WHOQOL-BREF-THAI) (α = 0.87) ที่มี 4 องค์ประกอบได้แก่ สุขภาพร่างกาย จิตใจอารมณ์ ความสัมพันธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ทั้ง 4 ปัจจัย ได้แก่ ลักษณะทางสังคมประชากรศาสตร์ ปัจจัยด้านสุขภาพและการรักษา พฤติกรรมการดูแลตนเอง และแรงสนับสนุนทางสังคม โดยใช้การวิเคราะห์สมการถดถอยพหุคูณ ผลการศึกษาพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ที่รับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดนครราชสีมา มีคุณภาพชีวิตในระดับปานกลาง และพบความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างตัวแปรต้นทั้ง 4 ปัจจัย กับคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวม ซึ่งเป็นตัวแปรตาม (r = 0.607, p = 0.000) โดยร้อยละ 36.8 ของความแปรปรวนในตัวแปรตามอธิบายได้ด้วยความแปรปรวนในตัวแปรต้น พบว่า คะแนนแรงสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติมากที่สุดกับคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมในทิศทางบวก (β = 0.387, p < 0.01) และคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β = 0.100, p < 0.05) และพบว่าคะแนนรวมของอาการที่สัมพันธ์กับเอชไอวี การไม่มีทั้งศูนย์องค์รวมและกลุ่มผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาล และสถานภาพหม้าย/หย่า/แยก มีความสัมพันธ์ทางลบกับคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β = -0.226, - 0.134, -0.097 ด้วยค่า p < 0.01, p < 0.01, p < 0.06) ตามลำดับ ผลการศึกษาแสดงถึงภาพรวมของผลลัพธ์การให้บริการดูแลรักษาผู้ติเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ที่รับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนจังหวัดนครราชสีมา และปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งสามารถนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการเพื่อส่งเสริมปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น
ที่มา
วารสารวิชาการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา ปี 2553, June-September
ปีที่: 16 ฉบับที่ 6 หน้า 25-42