คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุหลังใส่ฟันเทียมทั้งปากในโครงการ"ฟันเทียมพระราชทาน"
วิรัช บรรเจิดพงศ์ชัยกลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในมิติสุขภาพช่องปากรูปแบบการศึกษา: การศึกษาเชิงพรรณนาสถานที่ศึกษา: โรงพยาบาลอุตรดิตถ์วิธีการศึกษา: เก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมในแผนกทันตกรรม ชมรมผู้สูงอายุคลินิกเอกชนที่ร่วมโครงการ โดยการตรวจสภาวะช่องปากเพื่อประเมินสภาพฟันที่เหลือในช่องปาก และแบบสัมภาษณ์เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพโดยใช้ดัชนี Oral Impact on Daily Performance Index (OIDP) ประเด็นดัชนีคุณภาพชีวิตที่สัมพันธ์กับสุขภาพช่องปาก ได้แก่ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ในด้านการกินอาหารการพูดหรือออกเสียงให้ชัดเจน การทำความสะอาดช่องปากหรือฟันเทียม การดำเนินชีวิตทั่วๆ ไป การนอนหลับ การพักผ่อน ความสนุกสนานในการได้ออกไปพบกับญาติสนิทมิตรสหาย อารมณ์และจิตใจเป็นปกติ ไม่หงุดหงิดรำคาญง่าย สามารถยิ้มหัวเราะอวดฟันได้ไม่อายใคร ศึกษาช่วงเดือนตุลาคม ปี 2550 – กันยายน 2551 จำนวนผู้สูงอายุที่ศึกษาทั้งหมด 101 ราย สัมภาษณ์หลังใส่ฟันเทียม 6 เดือนขึ้นไป ข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยแจกแจงความถี่และร้อยละผลการศึกษา: ผู้สูงอายุรวม 101 รายเป็นเพศชาย 33 ราย ร้อยละ 32.7 เพศหญิง 68 ราย ร้อยละ 67.3 อายุเฉลี่ย 70.3 ปี มีการใช้ฟันเทียมน้อยกว่า 2 ปี 88 ราย ร้อยละ 87.2 ใช้ฟันเทียมมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ปี 13 ราย ร้อยละ 12.8 ต้องการทำฟันเทียมใหม่ 16 ราย ร้อยละ 15.8 โดยตรวจพบฟันเทียมชำรุด หรือหลวม 19 ราย ร้อยละ 18.70 ในภาพรวมหลังใส่ฟันเทียมไม่มีปัญหากระทบต่อคุณภาพชีวิต ร้อยละ 49.5 กระทบปานกลาง ร้อยละ 39.6 และกระทบมากที่สุด ร้อยละ 14.9 ปัญหาที่มีผลกระทบมากที่สุดคือ ด้านการกินอาหาร ส่วนความสนุกสนานในการออกไปพบญาติสนิทมิตรสหายมีปัญหาน้อยที่สุดสรุป: ครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมตามโครงการฟันเทียมพระราชทาน ไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต แต่อีกครึ่งหนึ่งมีผลกระทบ โดยผลกระทบมากที่สุดคือด้านการกินอาหาร ซึ่งการจัดกิจกรรมบริการทางทันตกรรมควรให้ตรงกับความต้องการของผู้สูงอายุ
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ปี 2553, January-April
ปีที่: 25 ฉบับที่ 1 หน้า 18-24
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, elderly, ผู้สูงอายุ, ฟันเทียม, Complete denture