การให้ Nasal Positive Pressure Ventiliation
วิทยา เพ็ชรดาชัย
Department of Pediatrics, Prachomklao Hospital, Phetchburi
บทคัดย่อ
                ศึกษาแบบไปข้างหน้าเพื่อประเมินผลการรักษาทารกแรกเกิดที่มีภาวะหายใจลำบาก จำนวน 20 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน โดยวิธีสุ่ม กลุ่มหนึ่งใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางท่อหลอดลม อีกกลุ่มหนึ่งใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางจมูก                ติดตามค่าก๊าซในเลือดในระยะเวลา 96 ชั่วโมงแรกของการรักษา สภาพกรดเบสในเลือด (pH) ในกลุ่มที่ใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางท่อหลอดลมเพิ่มขึ้นจาก 7.28 เป็น 7.39 ความดันคาร์บอนไดออกไซด์ (PaCO2) ลดลงจาก 54.8 เป็น 36.6 มม.ปรอท, ความดันออกซิเจน (PaO2) เพิ่มจาก 87.1 เป็น 112.8 มม.ปรอท, อัตราส่วนความดันออกซิเจนต่อความเข้มข้นของออกซิเจน (PaO2 : FiO2) เพิ่มจาก 87.1 เป็น 228.8, ความอิ่มตัวของออกซิเจน (SaO2) เพิ่มจากร้อยละ 95.7 เป็น 99.3, ในกลุ่มที่ใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางจมูก pH เพิ่มขึ้นจาก 7.26 เป็น 7.34, PaCO2 ลดลงจาก 58.7 เป็น 40.1 มม.ปรอท, PaO2 เพิ่มจาก 65.8 เป็น 85.8 มม.ปรอท, PaO2 : FiO2เพิ่มจาก 65.8 เป็น 180.5, SaO2 เพิ่มจากร้อยละ 96.3 เป็น 99.9, ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างค่าก๊าซในเลือดที่ระยะเวลาต่างๆ กันในทารกทั้งสองกลุ่ม ค่าก๊าซในเลือดเริ่มดีขึ้นที่เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงหลังใช้เครื่องช่วยหายใจ                ภาวะแทรกซ้อนที่พบในกลุ่มที่ใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางท่อหลอดลมคือปอดบวมร้อยละ 40 ส่วนในกลุ่มที่ใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางจมูก มีท้องอืดร้อยละ 10 และปอดบวมร้อยละ 10 ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทารก 1 คน ต้องยุติการช่วยหายใจผ่านทางจมูกเนื่องจากมีปอดบวมแทรก การใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางจมูกสามารถลดอัตราการใส่ท่อหลอดลมลงไปได้ร้อยละ 90                จำนวนวันที่ใช้เครื่องช่วยหายใจเป็น 9.5 วันในกลุ่มที่ใส่ท่อหลอดลม และ 6.9 วันในกลุ่มที่ใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางจมูก จำนวนวันที่อยู่โรงพยาบาลเป็น 22.8 และ 18.6 วันตามลำดับ โดยไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทารกทุกคนได้รับการรักษาจนหาย                ผลของการศึกษาพบว่าการใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางจมูกสามารถใช้รักษาทารกแรกเกิดที่มีภาวะหายใจลำบาก มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ สามารถลดอัตราการใส่ท่อหลอดลม ภาวะแทรกซ้อน จำนวนวันที่ใช้เครื่องช่วยหายใจและจำนวนวันที่อยู่โรงพยาบาลได้
ที่มา
วารสารกุมารเวชศาสตร์ ปี 2543, October-December ปีที่: 39 ฉบับที่ 4 หน้า 291-301