คุณภาพชีวิตและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมแบบ MRM และได้รับเคมีบำบัดในโรงพยาบาลนั่งเกล้า
Tubtim Paoin
Department of Nursing, Pranangklao Hospital, Nontaburi Province
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมแบบ Modify Radical Mastectomy (MRM) และได้รับเคมีบำบัด และเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมแบบ MRM และเคมีบำบัดที่มีปัจจัยส่วนบุคคลแตกต่างกัน ได้แก่ อายุ รายได้ ระดับการศึกษา และสถานภาพสมรสที่แตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมแบบ MRM และได้รับเคมีบำบัดที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2552 จำนวน 128 ราย (เลือกแบบเจาะจง 54 ราย และแบบบังเอิญ 74 ราย) รวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย และแบบวัดคุณภาพชีวิต ขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ 26 ตัวชี้วัด (World Health Organization Quality of Life assessment instrument: WHOQOL-BREF-THAI) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติ One group sample t-test และเปรียบเทียบโดยใช้สถิติ Independent t-test และ One way ANOVA ผลการวิจัยพบว่า โดยภาพรวมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมแบบ MRM กับการได้รับเคมีบำบัด มีค่าเฉลี่ย 79.93 (SD = 12.288) ซึ่งพบว่าอยู่ในระดับปานกลาง คุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมแบบ MRM และเคมีบำบัดที่มีปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา และสถานภาพสมรส มีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ P < 0.05 ส่วนในเรื่องของรายได้ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ P < 0.05                การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยเสนอให้มีการปรับปรุงแบบการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่ได้รับการผ่าตัดแบบ MRM และได้รับเคมีบำบัดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยอย่างแท้จริงเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้สูงขึ้น
ที่มา
วารสารวิชาการ รพศ/รพท เขต 4 ปี 2553, January-April ปีที่: 12 ฉบับที่ 1 หน้า 105-111