คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่รับบริการในคลินิกเอดส์ จังหวัดปราจีนบุรี
วันเพ็ญ แก้วปาน, สุรินทร์ สืบซึ้ง*โรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี
บทคัดย่อ
โรคเอดส์เป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีผลกระทบต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์โดยก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการยอมรับจากสังคม ส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในจังหวัดปราจีนบุรี กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่รับบริการในคลินิกเอดส์ของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดปราจีนบุรี รวม 7 แห่ง ซึ่งสุ่มโดยการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 273 ราย เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามซึ่งดัดแปลงจากแบบวัดคุณภาพชีวิต WHOQOL-HIV-BREF ขององค์การอนามัยโลก จำนวน 31 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยมัชฌิมเลขคณิตและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล การรับรู้ภาวะสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนกับคุณภาพชีวิต ด้วยสถิติค่าไคว์-แสควร์และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการศึกษาพบว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์มีคุณภาพชีวิตโดยรวมในระดับปานกลาง ร้อยละ 79.0 และเมื่อจำแนกรายองค์ประกอบ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ความรู้สึกเป็นอิสระ สัมพันธภาพทางสังคม สิ่งแวดล้อมและจิตวิญญาณ พบว่าอยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน ร้อยละ 74.3ม 78.7, 64.3, 76.9, 79.7 และ 65.4 ตามลำดับ และปัจจัยส่วนบุคคล (ได้แก่ อาชีพ รายได้ และระดับการศึกษา) การรับรู้ภาวะสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์โดยคลินิกเอดส์โรงพยาบาลควรสอนความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลตนเอง ช่วยเหลือให้ได้รับยาอย่างสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพเพื่อทราบอาการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งให้การรักษาภาวะแทรกซ้อน ประสานงานร่วมกับหน่วยงานสังคมสงเคราะห์หรือองค์กรภาคเอกชนจัดกิจกรรมให้การช่วยเหลือแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในด้านเศรษฐกิจโดยสร้างอาชีพและให้การช่วยเหลือครอบครัวตามสมควร เพื่อช่วยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ที่มา
วารสารวิชาการเขต 12 ปี 2549, October-December
ปีที่: 17 ฉบับที่ 4 หน้า 27-38