คุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในอำเภอสุไหงปาดี
นันทา ลิ้มเจริญโรงพยาบาลสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive research) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในอำเภอสุไหงปาดี กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในเขตอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส กำหนดกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 136 ราย การศึกษาคุณภาพชีวิตครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้กรอบแนวคิดของ Fillenbaum (1985) ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัด 2 ด้าน คือ ตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตเชิงวัตถุวิสัยและตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตเชิงจิตพิสัย มีองค์ประกอบทั้งสิ้น 6 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบด้านความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมประจำวัน องค์ประกอบด้านสุขภาพกาย องค์ประกอบด้านสุขภาพจิต องค์ประกอบด้านเศรษฐกิจ องค์ประกอบด้านสังคมและการดูแลและองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังของพจนีย์ ขูลีลัง (2545) ประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปส่วนบุคคล แบบสัมภาษณ์คุณภาพใน 6 องค์ประกอบ นำมาหาค่าความเที่ยงโดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้ค่าความเที่ยงของแบบสัมภาษณ์เชิงวัตถุวิสัยใน 6 องค์ประกอบเท่ากับ 0.83 ค่าความเที่ยงของแบบสัมภาษณ์เชิงจิตวิสัยใน 6 องค์ประกอบเท่ากับ 0.86 และค่าความเที่ยงของแบบสัมภาษณ์รวมทั้งฉบับเท่ากับ 0.87 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและคะแนนมาตรฐาน (T-score) ได้ผลการศึกษาดังนี้ 1. การประเมินระดับคุณภาพชีวิตในเชิงวัตถุวิสัยและเชิงจิตวิสัยของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คุณภาพชีวิตเชิงวัตถุวิสัย โดยรวมอยู่ระดับปานกลาง ( = 2.33 SD = 0.18) พบว่า องค์ประกอบด้านสังคมและการดูแลอยู่ในระดับสูง ( = 2.51 SD = 0.21) รองลงมาองค์ประกอบด้านความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมประจำวัน ( =2.33 SD=0.42) ด้านสุขภาพกาย ( =2.32 SD=0.20) ด้านสุขภาพจิต( =2.31 SD =0.28) และองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม ( =2.30 SD=0.33) สำหรับด้านที่ต่ำที่สุด คือ องค์ประกอบด้านเศรษฐกิจ ( =2.03 SD=0.33) สำหรับคุณภาพชีวิตเชิงจิตวิสัยโดยรวมอยู่ในระดับสูง ( =3.77 SD=0.53) พบว่าองค์ประกอบด้านสังคมและการดูแลอยู่ในระดับสูง ( =4.05 SD=0.69) รองลงมาเป็นองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม ( =4.00 SD=0.64) ความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมประจำวัน ( =3.67 SD=0.58) ด้านสุขภาพจิต( =3.66 SD=0.62) และด้านสุขภาพกาย ( =3.59 SD=0.82) สำหรับด้านที่ต่ำที่สุดคือองค์ประกอบด้านเศรษฐกิจ 2. คุณภาพชีวิตโดยรวมทั้งด้านวัตถุวิสัยและจิตวิสัยอยู่ในระดับปานกลาง (T-score = 50.00) โดยมีองค์ประกอบย่อยอีก 5 องค์ประกอบ ที่มีคุณภาพชีวิตในระดับปานกลางเช่นกัน ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถเป็นแนวทางในการปฏิบัติการพยาบาลของพยาบาลหรือทีมสุขภาพอื่นๆ เพื่อการวางแผนส่งเสริมให้ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
ที่มา
วารสารวิชาการเขต 12 ปี 2551, April-June
ปีที่: 19 ฉบับที่ 2 หน้า 29-40