ประสิทธิผลของการควบคุมอาหารและออกกำลังกายต่อการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง
ศรีพัฒน์ พัฒโนภาษกลุ่มงานบริการทางการแพทย์ โรงพยาบาลระโนด จังหวัดสงขลา
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงประสิทธิผลของการควบคุมอาหารและออกกำลังกายต่อการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นการวิจัยแบบ Prospective randomized controlled trial โดยการศึกษาในผู้ป่วยที่มารับการตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลระโนด ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึงพฤษภาคม 2551 โดยทำการตรวจระดับไขมันในเลือดก่อนและหลังการรักษาเป็นเวลา 1 เดือน มีผู้ป่วยเข้าร่วมจำนวน 79 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (19 คน) ได้ให้การรักษาโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย กลุ่มที่ 2 (30 คน) ได้รับการรักษาด้วย Simvastatin 10 mg/hs กลุ่มที่ 3 (30 คน) ได้รับการรักษาด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ร่วมกับ Simvastatin 10 mg/hs ผลการศึกษากลุ่มที่ 1 ลดระดับ TC, TG, LDL ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P<0.001, P<0.1 และ P<0.001 ตามลำดับ แต่ไม่สามารถเพิ่ม HDL ได้ (P>0.5) กลุ่มที่ 2 ลด TC และ LDL ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P<0.2 ทั้ง 2 กลุ่ม ลดระดับ TG ไม่ได้ P>0.5 เพิ่มระดับ HDL ได้ P<0.4 กลุ่มที่ 3 สามารถลด TC TG และ LDL และเพิ่ม HDL ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001, P<0.005, P<0.001 และ P<0.05 ตามลำดับ) สรุป การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง จะได้ผลดีที่สุดจะต้องได้รับการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการใช้ยา นั่นคือ การควบคุมอาหารและออกกำลังกายมีความสำคัญต่อการลดระดับไขมันในเลือดนั่นเอง
ที่มา
วารสารวิชาการเขต 12 ปี 2551, April-June
ปีที่: 19 ฉบับที่ 2 หน้า 109-115
คำสำคัญ
hypertension, Diet control and exercise, การควบคุมอาหาร, ออกกำลังกาย, ไขมันในเลือดสูง