การพัฒนาโปรแกรมการบำบัดทางจิตสังคมแบบกลุ่มสำหรับผู้ป่วยโรคติดสุราที่มีการกลับป่วยซ้ำ
ชลิตสุดา พรหมทวี, ทิพศมัย ทายะรังษี, วงเดือน สุนันตา, สมพร กิ่วแก้ว, สุนทรี ศรีโกไสย*, หทัยชนนี บุญเจริญ
Suan Prung Psychiatric Hospital
บทคัดย่อ
ผู้ป่วยโรคติดสุราที่กลับมารักษาซ้ำจะมีความคุ้นเคยกับการบำบัดแบบกลุ่มที่เป็นกิจกรรมตามปกติของหอผู้ป่วย การบำบัดทางจิตสังคมสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรมีลักษณะเฉพาะ และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยลดหรือหยุดดื่มสุราได้อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาโปรแกรมการบำบัดทางจิตสังคมแบบกลุ่มสำหรับผู้ป่วยโรคติดสุราที่มีการกลับป่วยซ้ำ ครั้งนี้ใช้แนวคิดการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมและแนวคิดการทำกลุ่มบำบัด ทดสอบผลของโปรแกรมโดยใช้การวิจัยแบบกึ่งทดลองชนิดมีกลุ่มควบคุมวัดก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 46 ราย จับคู่ตามคุณลักษณะที่คล้ายคลึงกันก่อนทำการสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม จำนวนกลุ่มละ 23 ราย เครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามพฤติกรรมการดื่มสุรา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Friedman test และ Mann-Whitney U testผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีร้อยละของจำนวนวันที่ดื่มหนักน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) ในการติดตามหลังจำหน่ายครบ 2 เดือน และมีร้อยละของจำนวนวันที่หยุดดื่มสุราสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) ในการติดตามหลังจำหน่ายครบ 1, 2, และ 3 เดือน ส่วนร้อยละของจำนวนวันที่ดื่มหนักและร้อยละของจำนวนวันที่หยุดดื่มสุราของกลุ่มทดลองในแต่ละระยะของการติดตามหลังจำหน่าย พบว่า ดีขึ้นกว่าก่อนการเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) ข้อเสนอแนะ พยาบาลและบุคลากรทางสุขภาพควรนำโปรแกรมนี้ไปใช้ในการบำบัดทางจิตสังคมสำหรับผู้ป่วยโรคติดสุราที่มีการกลับป่วยซ้ำเพื่อส่งเสริมการลดหรือหยุดดื่มสุราได้อย่างต่อเนื่อง
ที่มา
วารสารสภาการพยาบาล ปี 2553, October-December ปีที่: 25 ฉบับที่ 4 หน้า 67-79
คำสำคัญ
ผู้ป่วยโรคติดสุรา, Alcohol dependence, Group psycho-social intervention, Program development, Relapse, การกลับป่วยซ้ำ, การบำบัดทางจิตสังคมแบบกลุ่ม, การพัฒนาโปรแกรม