ผลการออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานในสตรีที่มีภาวะปัสสาวะเล็ดในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
มาลินี เหล่าไพบูลย์, ธัญลักษณ์ ศรีบุญเรือง*, วิชัย อึงพินิจพงศ์, สุปรียา วงษ์ตระหง่านDepartment of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Science, Chiang Mai University, Chiang Mai 50200, Thailand; Phone: 053-949-242, Fax: 053-946-042; E-mail: tsriboonreung@ yahoo.com
บทคัดย่อ
การรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดโดยการออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานในสตรีเป็นที่นิยม แต่วิธีการที่ให้ประสิทธิผลสูงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของวิธีการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่ให้ความแข็งแรงสูงสุด โดยเปรียบเทียบวิธีบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน 3 แบบ คือ 1) บริหารทุกวัน 2) บริหารสามวันต่อสัปดาห์ 3) บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ร่วมกับกล้ามเนื้อท้องสามวันต่อสัปดาห์ สตรีกลุ่มตัวอย่างที่มีปัสสาวะเล็ด ผ่านเกณฑ์คัดเข้า-คัดออก และสามารถบริหารได้ถูกต้อง 68 คน จับสลากสุ่มเพื่อเข้ากลุ่มบริหารระยะเวลา 3 เดือน ตัวแปรหลักคือน้ำหนักปัสสาวะเล็ด ตัวแปรรองคือความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและความพึงพอใจหลังการบริหารโดยการวัดก่อนและหลังการบริหาร 12 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า น้ำหนักปัสสาวะเล็ดลดลง 2.6 ± 0.8, 2.3 ± 1.3 และ 3.1 ±1.3 กรัม ในกลุ่มที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ แต่พบว่า ความแตกต่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) ความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มที่ 1, 2 และ 3 คือ 18.4 ± 2.7, 13.9 ± 2.9, 17.3 ± 3.0 เซนติเมตรน้ำ ตามลำดับ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ 2 น้อยกว่ากลุ่มที่ 1 และ 3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.00) ด้านความพึงพอใจหลังการบริหารทั้งสามกลุ่ม มีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ในการศึกษานี้ไม่พบอาการข้างเคียงที่เกิดจากการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยสรุปถึงแม้ว่าการศึกษานี้พบความแตกต่างทั้งสามกลุ่ม อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในน้ำหนักปัสสาวะเล็ด แต่ภายหลังการบริหารทั้งสามกลุ่มสามารถเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้จึงทำให้ปัสสาวะเล็ดลดลง ทั้งสามกลุ่มมีความพึงพอใจหลังการบริหารไม่แตกต่างกัน
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2554, January
ปีที่: 94 ฉบับที่ 1 หน้า 1-7
คำสำคัญ
Quality of life, Stress urinary incontinence, Exercise, Pelvic floor muscle training