อุปกรณ์ก่อแรงดันบวกรูปกรวยแบบใหม่สามารถลดภาวะหอบเหนื่อยและพลวัตการโป่งพองของปอดขณะออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังระดับปานกลาง
ทัศวิญา พัดเกาะ, วัชรา บุญสวัสด์ิ, ชุลี โจนส์Department of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Sciences, Khon Kaen University, Khon Kaen 40002. E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
เนื่องจากภาวะพลวัตการโป่งพองของปอด (Dynamic hyperinflation) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ความทนทานในการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังลดลง ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการศึกษานี้คือ เพื่อศึกษาผลของแรงดันบวกขณะหายใจออกจากการใช้อุปกรณ์ก่อแรงดันบวกแบบใหม่ (Conical Positive Expiratory Pressure Device: C-PEP) ต่อภาวะหอบเหนื่อยพลวัตการโป่งพองของปอดและการทำงานของหัวใจและระบบการหายใจระหว่างออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง โดยศึกษาแบบ Randomized cross-over controlled trial ในผู้ป่วย COPD 10 คน (ชาย 9 คน) อายุเฉลี่ย 57.6 ± 9.8 ปี ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของปริมาตรอากาศหายใจออกอย่างแรงในหนึ่งวินาทีแรกร้อยละ 66.4 ±12.2 ของค่าพยากรณ์ปกติ พลวัตการโป่งพองของปอดกระตุ้นให้เกิดขึ้นโดยการออกกำลังกาย งอ-เหยียดเข่า ขึ้นลงสลับกันในท่านั่ง โดยมีน้ำหนักถ่วงที่ข้อเท้าด้วยความหนักร้อยละ 30 ของน้ำหนักที่สามารถยกเหยียดเข่าตรงได้หนึ่งครั้ง สุ่มลำดับการศึกษาเป็น 2 ภาวะคือ ออกกำลังกายร่วมกับหายใจออกผ่าน C-PEP (ภาวะ C-PEP) และหายใจออกปกติ (ภาวะควบคุม) จนกระทั่งหอบเหนื่อยมากที่ระดับ rating of perceived breathlessness (RPB) = 5 หรือล้าขาที่ระดับ visual analog scale (VAS) = 10 และขอหยุดในที่สุด โดยพักอย่างน้อย 30 นาที ระหว่างภาวะ ประเมินความจุปอด inspiratory capacity (IC), slow vital capacity (SVC) ระดับหอบเหนื่อยและระดับการล้าของขา ก่อนและสิ้นสุดการออกกำลังกายทันที ประเมินอัตราการหายใจ (respiratory rate; RR) ระยะเวลาการหายใจออก (expiratory time; TE) ปริมาตรอากาศหายใจที่ไหลออกใน 1 นาที (minute ventilation; V’E) ภาวะอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (oxygen saturation; SpO2) แรงดันคาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออก (end-tidal carbon dioxide; PETCO2) และแรงดันบวกในช่องปากขณะหายใจออก ก่อนและ 30 วินาทีสุดท้ายในระหว่างการออกกำลังกาย ผลการศึกษาพบว่า C-PEP สามารถก่อให้เกิดแรงดันบวกในช่องปากเฉลี่ย 13.3 ซม.น้ำ (95 CI; 10.4-16.2) ในขณะออกกำลังกาย ลด RR (ค่าเฉลี่ย± ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าเฉลี่ย) 7.7 ± 3.7 ครั้งต่อนาที เพิ่ม TE 0.9 ± 0.3 วินาที ลด V’E 4.4 ±1.3 ลิตร ลดภาวะหอบเหนื่อย 0.8 ± 0.3 เพิ่ม SVC 0.17 ± 0.09 ลิตร และลด IC 0.17 ± 0.08 ลิตร เมื่อเปรียบเทียบกับการหายใจปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) การศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าการหายใจออกผ่านอุปกรณ์ C-PEP สามารถเปลี่ยนแบบแผนการหายใจโดยไม่ทำให้เกิดการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นและลดงานการหายใจขณะออกกำลังกายระดับปานกลาง (ร้อยละ 75.6 ของ age-predicted maximum heart rate) เพิ่มปริมาตรการขับอากาศขณะหายใจออก ในผู้ป่วย COPD ที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2552, January-April
ปีที่: 31 ฉบับที่ 1 หน้า 18-28
คำสำคัญ
Chronic obstructive pulmonary disease, Dyspnea, Lung hyperinflation, Positive expiratory pressure