ผลทันทีและผลระยะสั้นของการนวดแผนไทยต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและการเคลื่อนไหวของมือในผู้ป่วยโรคหนังแข็ง
Kunavut Vannajak, รัตนวดี ณ นคร, ยอดชาย บุญประกอบ, วิชัย อึงพินิจพงศ์
Department of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Science, Khon Kaen University, Khon kaen, 40002, E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาผลทันทีและผลคงค้างที่ระยะเวลา 10, 20 และ 30 นาที ของการนวดแผนไทยต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของมือและผลทันทีและผลระยะสั้นของการนวดแผนไทยต่อการเคลื่อนไหวของมือในผู้ป่วยโรคหนังแข็ง โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมในการศึกษาจำนวน 20 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนวดแผนไทยจำนวน 10 ราย โดยได้รับการนวดแผนไทยที่แขนและมือเป็นเวลา 30 นาที(ข้างละ 15 นาที) หลังสิ้นสุดการนวดครั้งแรก อาสาสมัครในกลุ่มนวดไทยได้รับการนวดแผนไทยทุกวันโดยญาติเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมจำนวน 10 ราย นอนพักเป็นเวลา 15 นาที การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมือใช้กล้องถ่ายภาพความร้อน (Thermography) เป็นเครื่องมือตรวจสอบ ส่วนการเคลื่อนไหวของมือใช้แบบประเมินการเคลื่อนไหวของมือในผู้ป่วยโรคหนังแข็ง (Hand Mobility in Scleroderma, HAMIS) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มนวดแผนไทยมีอุณหภูมิของมือเพิ่มขึ้นทันทีและมีผลคงค้างต่อไปที่ระยะเวลา 10, 20 และ 30 นาที อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p<0.05) ส่วนการประเมินประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของมือจากแบบประเมิน HAMIS พบว่ามีการเคลื่อนไหวของมือดีขึ้นจากกลุ่มควบคุมทันทีและสองสัปดาห์ที่ติดตามผล (p<0.05) สรุปว่าการนวดแผนไทยมีผลเพิ่มอุณหภูมิของผิวหนังบริเวณมือหลังการนวดทันทีและมีผลคงค้างต่อไปถึง 30 นาที และทำให้การเคลื่อนไหวของมือดีขึ้นทั้งทันทีและสองสัปดาห์หลังติดตามผล วิธีการดังกล่าวอาจนำไปประยุกต์ใช้เป็นการรักษาร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆในผู้ป่วยโรคหนังแข็ง
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2553, May-August ปีที่: 32 ฉบับที่ 2 หน้า 81-89
คำสำคัญ
Traditional Thai massage, Thermography, HAMIS, Hand mobility, Scleroderma