เปรียบเทียบประสิทธิผลการใช้อุปกรณ์ป้องกันการกดทับหลอดเลือดบริเวณแขนที่ให้ยาและสารละลายขณะทำผ่าตัดกับการเก็บแขนด้วยผ้า
Chanchayanon T, นุสรา ดิลกรัตนพิจิตร*, ยุพิน อภิสิทธิวงศ์
Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine, Songkhlanakarin Hospital, Songkhlanakarin University, Songkhla 90110
บทคัดย่อ
                อุปกรณ์ป้องกันการกดทับหลอดเลือดถือว่าเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ช่วยลดอุบัติการณ์ เช่น การรบกวนการไหลของสารละลายทางหลอดเลือด การรวบกวนการวัดความดันทางหลอดเลือดดำ การรบกวนการวัดค่าความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือด การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลการใช้อุปกรณ์ป้องกันการกดทับหลอดเลือดบริเวณแขนที่ให้ยาและสารละลายขณะทำผ่าตัดที่ประดิษฐ์ขึ้นเปรียบเทียบกับการใช้ผ้าเก็บแขน ทำการศึกษาแบบ Randomized, double blind, controlled trial ใช้กลุ่มผู้ป่วยอายุมากกว่า 15 ปี ที่มารับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy), การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (Open heart surgery), การผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic cholecystectomy), การผ่าตัดก้อนเนื้อที่เต้านม (Modified radical mastectomy) ที่ห้องผ่าตัดโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยจัดท่าผู้ป่วยนอนหงายราบเก็บแขนแนบชิดลำตัว 1 หรือ 2 ข้าง และมีการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ หรือมีการวัดความดันเลือด หรือมีการวัดความดันทางหลอดเลือดแดง (A-line) แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกใช้อุปกรณ์ป้องกันการกดทับหลอดเลือดบริเวณแขนซ้อนบนผ้าขวางเตียง กลุ่มที่ 2 ไม่ใช้อุปกรณ์เก็บแขนใช้ผ้าขวางเตียงเก็บแขนตามปกติ สุ่มตัวอย่างโดยใช้คอมพิวเตอร์ผลการศึกษา: พบว่าเพศ อายุ ประวัติการได้รับสารละลายทางหลอดเลือดดำ ระยะเวลาที่ทำผ่าตัด จำนวนสารละลายที่ได้รับ ไม่มีความแตกต่างกันในทั้งสองกลุ่ม กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันจะพบอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นขณะผ่าตัดมากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <0.05) สรุป: อุปกรณ์ป้องกันการกดทับหลอดเลือด สามารถช่วยลดอุบัติการณ์ เช่น การรบกวนการไหลของสารละลายทางหลอดเลือด การรบกวนการวัดความดัน การรบกวนการวัดค่าความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือด ได้ดีกว่าการใช้ผ้าขวางเตียงเก็บแขน  นอกจากนี้ อาจช่วยให้ศัลยแพทย์ทำผ่าตัดได้สะดวก และลดความวิตกกังวลของวิสัญญีแพทย์ วิสัญญีพยาบาลจากการต้องเฝ้าระวังการไหลของสารละลายอีกด้วย
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2552, April-June ปีที่: 35 ฉบับที่ 2 หน้า 106-111
คำสำคัญ
Arm protection device, อุปกรณ์ป้องกันการกดทับหลอดเลือด