การประเมินต้นทุนกับประสิทธิผลของการวัดระดับความลึกของการให้ยาระงับความรู้สึก เพื่อป้องกันภาวะการรู้ตัวระหว่างการได้รับยาสลบในประเทศไทย
ภูพิงค์ เอกะวิภาต
Department of Anesthesiology, Prasat Neurological Institute, Bangkok 10400, Thailand
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: การเฝ้าระวังภาวะ awareness มีหลายวิธี แต่ยังไม่เคยมีการคิดคำนวณความคุ้มค่าของการใช้เครื่องมือในการเฝ้าระวังระดับความลึกของการใช้ยาระงับความรู้สึก วัตถุประสงค์: เพื่อคำนวณความคุ้มค่าในแง่ของต้นทุนของผู้ให้บริการ เฉพาะค่าเครื่องมือ อุปกรณ์ประกอบการค่ายาระงับความรู้สึกกับประสิทธิผลต่อการป้องกันภาวะ awareness ในผู้ป่วย ASA physical status 1-2 ที่มารับการให้ยาระงับความรู้สึก โดยเลือกศึกษาเฉพาะ bispectral index, end-tidal anesthetic gas concentration และการไม่ใช้เครื่องมือพิเศษอื่นนอกจากการเฝ้าระวังอาการแสดงทางคลินิกวิธีการศึกษา: ใช้วิธีทบทวนวารสารจากฐานข้อมูลต่างๆ โดยกำหนดลักษณะประชากร ระยะเวลา ภาษาและกระบวนการพิจารณาคุณค่าของงานวิจัย วิเคราะห์ cost-effectiveness analysis ด้วยหลักการของ decision analysis ตาม Bayes’s theorem นำเสนอด้วยค่า cost-effectiveness ratio (CER) และใช้ sensitivity analysis ในการประมาณต้นทุนในกรณีที่อุบัติการณ์การเกิดภาวะ awareness ระยะเวลาในการให้ยาระงับความรู้สึก และราคาของอุปกรณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยคำนวณจากโปรแกรม Senlt 1.31ผลการศึกษา: งานวิจัยที่สามารถนำมาอ้างอิงได้มีจำนวน 7 ฉบับ เมื่อวิเคราะห์ด้วย cost effectiveness analysis พบว่าการเฝ้าระวังระดับความลึกของการให้ยาระงับความรู้สึกโดยที่ไม่ใช้เครื่องมือพิเศษอื่น การใช้ end-tidal anesthetic gas concentration และ bispectral index มีค่า CER 2,134.33, 2,247.67 และ 4,074.67 บาท ตามลำดับ ในขณะที่ค่า incremental cost-effectiveness ratio ของการเฝ้าระวังด้วย end-tidal anesthetic gas concentration มีค่า 87,060.40 บาท และการเฝ้าระวังด้วย bispectral index มีค่า 22,921,631.21 บาท การวิเคราะห์ด้วย sensitivity analysis พบว่า CER ของการไม่ใช้เครื่องมือเฝ้าระวังพิเศษอื่น ยังมีค่าต่ำที่สุด ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงอุบัติการณ์การเกิดภาวะ awareness ตั้งแต่ร้อยละ 0.05-1.5 แต่จะมีค่าเท่ากับ CER ของการใช้ end-tidal anesthetic gas concentration และเครื่อง bispectral index เมื่อระยะเวลาในการให้ยาระงับความรู้สึกประมาณ 3.17 และ 5.73 ชั่วโมง และพบว่า CER ของการใช้เครื่อง bispectral index จะมีค่าเท่ากับการไม่ใช้เครื่องเฝ้าระวังพิเศษและ end-tidal anesthetic gas concentration  เมื่อค่า BIS sensor ราคา 62.43 บาท และ 174.82 บาทต่อชิ้น ตามลำดับสรุปผลการศึกษา: การเฝ้าระวังตามมาตรฐานโดยไม่ใช้เครื่องเฝ้าระวังพิเศษอื่น มีความคุ้มค่า คุ้มทุนมากที่สุดในการเฝ้าระวังระดับความลึกของการใช้ยาระงับความรู้สึก แต่หากจะให้เลือกเครื่องมือ การใช้ end-tidal anesthetic gas concentration จะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการใช้ bispectral index อย่างไรก็ตาม ควรมีการพิจารณาระยะเวลาในการให้ยาระงับความรู้สึกและราคาของ BIS sensor ด้วย
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2553, July-September ปีที่: 36 ฉบับที่ 3 หน้า 163-179
คำสำคัญ
Bispectral index, End-tidal anesthetic gas concentration, Technology assessment, การเฝ้าระวัง, ระดับความลึกของการให้ยาระงับความรู้สึก