การเปรียบเทียบผลการยึดติดทางคลินิกของวัสดุเคลือบหลุ่มร่องฟัน ระหว่างการใช้ระบบเซลฟ์เอทช์ กับการใช้กรดฟอสฟอริกกัดผิวฟันบนฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ของเด็กอายุ 6-8 ปี
ชื่นตา วิชชาวุธ, มาลินี ใจคำวัง*กองทันตสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
บทคัดย่อ
การศึกษาทางคลินิกนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบอัตราการยึดติดของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟัน ระหว่างการใช้ระบบเซลฟ์เอทซ์กับการใช้กรดฟอสฟอริกกัดผิวฟัน โดยศึกษาบนฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ในเด็กอายุ 6-8 ปี จำนวน 124 คน ที่ระยะเวลา 3 เดือน และระยะเวลา 6 เดือน โดยจัดตัวอย่างเข้ารับการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันชนิดแข็งตัวด้วยแสง ระบบเซลฟ์เอทซ์ (ควิกซีล, บริษัทบีเจเอ็ม แล็บบอราทอรี่ ประเทศอิสราเอล) ด้วยการสุ่มแบบเรียงลำดับที่และจับสลากให้ฟันข้างหนึ่งได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันโดยใช้ระบบเซลฟ์เอทซ์ ส่วนฟันอีกข้างหนึ่งใช้กรดฟอสฟอริกกัดผิวฟันก่อนเป่าให้แห้ง แล้วจึงใช้วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันระบบเซลฟ์เอทซ์ทาที่หลุมร่องฟัน และฉายแสง ติดตามผลการยึดติดของวัสดุ และการผุของฟันที่ระยะเวลา 3 เดือนและระยะเวลา 6 เดือน โดยทันตแพทย์อีกคนที่ถูกปิดยังไม่ให้ทราบว่าตัวอย่างที่ตรวจอยู่ในกลุ่มใด เมื่อสิ้นสุดการศึกษาคงเหลือจำนวนตัวอย่าง 107 คน ผลการศึกษาพบว่าที่ระยะเวลา 3 เดือน และระยะเวลา 6 เดือน อัตราการยึดติดสมบูรณ์ของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่ใช้ระบบเซลฟ์เอทซ์มีอัตราการยึดติดต่ำกว่าวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่ใช้กรดฟอสฟอริกกัดผิวฟันก่อน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับนัยสำคัญร้อยละ 95 (P = .000) และพบว่ามีฟันผุ ที่ระยะเวลา 3 เดือน และระยะเวลา 6 เดือน ในฟันที่ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันโดยใช้ระบบเซลฟ์เอทซ์ ร้อยละ 1.9 และร้อยละ 3.7 ส่วนฟันที่ใช้กรดฟอสฟอริกกัดผิวฟันก่อน ไม่พบว่ามีฟันผุ สรุปผลการศึกษานี้ว่า วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่ใช้ระบบเซลฟ์เอทซ์มีอัตราการยึดติดในหลุมร่องฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ที่ระยะเวลา 3 เดือน และระยะเวลา 6 เดือนต่ำกว่าเมื่อกัดผิวฟันด้วยกรดฟอสฟอริก ก่อนทาวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันชนิดเดียวกัน
ที่มา
วารสารสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ปี 2553, October - August
ปีที่: 8 ฉบับที่ 1 หน้า 12-24