การเปรียบเทียบผลข้างเคียงของการใช้ นาลบูฟีน กับมอร์ฟีนทางไขสันหลังในผู้ป่วยหลังผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง
ชัยสึก จิวะธนะพรDepartment of Obstetries & Gynecology, Chonburi Hospital, Chonburi 20000
บทคัดย่อ
การศึกษาเปรียบเทียบผลข้างเคียงของการใช้ยา nalbuphine และ morphine ฉีดเข้าในไขสันหลังระงับความเจ็บปวดในหญิงตั้งครรภ์ ที่มาฝากครรภ์ที่ ร.พ.ชลบุรี และนัดผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องแบบไม่ฉุกเฉิน หรือได้รับการตัดสินให้คลอดทางหน้าท้อง เนื่องจากช่องทางคลอดและศีรษะทารกไม่ได้สัดส่วนกันเป็นการศึกษาแบบ Prospective, single blind randomized study มีหญิงตั้งครรภ์ที่ศึกษาจำนวน 60 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 30 คน และกลุ่มทดลอง 30 คน โดยผู้ป่วยกลุ่มควบคุม 30 คน จะได้รับการฉีด 5% heavy xylocaine 1.2 มิลลิลิตรผสมกับ morphine 0.2 มิลลิกรัมเข้าในไขสันหลัง และกลุ่มทดลอง 30 คน จะได้รับการฉีด 5% heavy xylocaine 1.2 มิลลิลิตรผสมกับ nalbuphine 0.8 มิลลิกรัมเข้าในไขสันหลัง ติดตามผลข้างเคียง และระยะเวลาการระงับอาการปวดของยาทั้ง 2 ชนิดพบว่า หลังผ่าตัดผู้ป่วยกลุ่มทดลองร้อยละ 80 ไม่มีอาการคัน ร้อยละ 20 ที่มีอาการคันเล็กน้อย กลุ่มควบคุม ร้อยละ46.70 มีอาการคันเล็กน้อย ร้อยละ 40 มีอาการคันปานกลาง ร้อยละ 13.30 มีอาการคันมาก จนต้องได้รับยาเพื่อรักษาอาการคัน สำหรับอาการคลื่นไส้ อาเจียน กลุ่มทดลอง ร้อยละ 93.3 ไม่พบว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร้อยละ 3.3 มีอาการคลื่นไส้เล็กน้อย ร้อยละ 3.3 คลื่นไส้ อาเจียนมากต้องได้รับยาเพื่อรักษาอาการ กลุ่มควบคุมร้อยละ 16.7 ไม่มีอาการ ร้อยละ 73.3 มีคลื่นไส้ อาเจียนเล็กน้อย ร้อยละ 10 มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนมากต้องได้รับยาเพื่อรักษาอาการ ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับยาจนกระทั่งเริ่มมีอาการปวดครั้งแรก กลุ่มทดลองเฉลี่ย 216.67 นาที กลุ่มทดลองเฉลี่ย 507 นาที และระยะเวลาตั้งแต่ได้รับยาจนกระทั่งปวดมากจนต้องได้รับยาแก้ปวด กลุ่มทดลอง เฉลี่ย 504.33 นาที กลุ่มควบคุม เฉลี่ย 1,108.83 นาที กลุ่มทดลอง มีอาการคันและคลื่นไส้อาเจียนน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่กลุ่มควบคุม มีฤทธิ์การระงับปวดมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลชลบุรี ปี 2547, January-April
ปีที่: 29 ฉบับที่ 1 หน้า 19-24
คำสำคัญ
Intrathecal, Cesarean section, morphine, Nalbuphine