การศึกษาเปรียบเทียบการเริ่มรับประทานอาหารแบบเร็วกับแบบที่ปฏิบัติกันมาในผู้ป่วยหลังผ่าตัดใหญ่นรีเวชทางหน้าท้องของโรงพยาบาลชลบุรี
วิชชา ตันศิริDepartment of Obstetries & Gynecology, Chonburi Hospital, Chonburi 20000
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบ prospective randomized controlled trial กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ป่วยอายุ 25-55 ปี ที่มารับการผ่าตัดใหญ่นรีเวชทางหน้าท้องที่โรงพยาบาลชลบุรี จำนวน 191 คน แบ่งป็นกลุ่มควบคุมจำนวน 95 คน เริ่มรับประทานอาหารเหลวหลังผ่าตัด 24 ชั่วโมง กลุ่มทดลอง จำนวน 96 คน เริ่มรับประทานอาหารเหลวหลังผ่าตัด 8 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นอาหารอ่อนและอาหารธรรมดาในมื้อต่อไป ถ้าผู้ป่วยสามารถรับได้ จากนั้นติดตามความสามารถในการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ ภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินอาหารและความพึงพอใจของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มเปรียบเทียบกัน พบว่าทั้งสองกลุ่มสามารถรับประทานอาหารได้ไม่แตกต่างกัน กลุ่มทดลองมีอาการอาเจียนและท้องอืดร้อยละ 13.5 และ 21.9 ส่วนกลุ่มควบคุมมีอาการอาเจียนและท้องอืดร้อยละ 9.5 และ 14.7 ตามลำดับ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่กลุ่มทดลองมีอาการคลื่นไส้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 42.7 และ 21.1, p < 0.001) ในส่วนความพึงพอใจ พบว่ากลุ่มทดลองมีความพึงพอใจระดับ 4 ร้อยละ 54.2 และระดับ 5 ร้อยละ 38.5 กลุ่มควบคุมมีความพึงพอใจระดับ 4 ร้อยละ 15.8 และระดับ 5 ร้อยละ 7.4 ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.001)
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลชลบุรี ปี 2548, May-August
ปีที่: 30 ฉบับที่ 2 หน้า 81-87
คำสำคัญ
Early feeding, Gynecologic surgery