การคงขนาดสันกระดูกภายหลังการถอนฟันด้วยวัสดุละลายชีวภาพ (เอทีโลคอลลาเจนสปองก์): การศึกษาทางคลินิกและภาพรังสีในมนุษย์
กอบสุข สมบัติเปี่ยม*, ศิริวรรณ สัพพะเลข, อาทิพันธุ์ พิมพ์ขาวขำ
Department of Oral & Maxillofacial Surgery, Faculty of Dentistry, Chulalongkorn University
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของการใช้เอทีโลคอลลาเจนสปองก์ในการคงขนาดสันกระดูกหลังการถอนฟัน ศึกษาในผู้ป่วย 10 ราย ที่มารับการถอนฟันกรามพร้อมกัน 2 ตำแหน่งในเวลาเดียวกัน ก่อนถอนฟัน พิมพ์ปากผู้ป่วยเพื่อทำชิ้นหล่อศึกษา สำหรับเตรียมแผ่นพลาสติกที่มีลูกเหล็กขนาด 3 มิลลิเมตร ติดอยู่บริเวณเหนือแผลถอนฟัน หลังถอนฟัน ในกลุ่มศึกษาใส่เอทีโลคอลลาเจนสปองก์ลงในแผลถอนฟันและเย็บด้วยไหม ส่วนกลุ่มควบคุมปล่อยให้แผลหายตามธรรมชาติ ติดตามผลการรักษาทุก 1 สัปดาห์ 1 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน โดยพิมพ์ปากและถ่ายภาพรังสีทุกครั้ง วัดขนาดของเบ้าฟันในแนวกระพุ้งแก้ม – ลิ้นที่ตำแหน่งคอฟัน และรากฟันจากชิ้นหล่อศึกษา ส่วนความสูงของสันกระดูก และความหนาทึบของกระดูกเบ้าฟันประเมินจากภาพถ่ายรังสี ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ผลโดยใช้การทดสอบมันน์-วิตนีย์ยู การทดสอบฟรีดแมน และการทดสอบเชิงผลรวมและลำดับที่วิลคอกซัน ผลการศึกษาพบว่า เบ้าฟันที่ปล่อยให้หายเองโดยธรรมชาติมีขนาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับเบ้าฟันที่ใส่เอทีโลคอลลาเจนสปองก์ ในเดือนที่ 4 และเดือนที่ 6 หลังถอนฟัน จากภาพรังสีพบว่า กระดูกเบ้าฟันในกลุ่มศึกษามีความทึบแสงมากกว่าในกลุ่มควบคุมตั้งแต่เดือนที่ 4 หลังถอนฟัน และสามารถมองเห็นขอบเขตสีขาวที่ขอบบนของเบ้าฟันและไม่มีรอยเบ้าฟันปรากฏ การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าเอทีโลคอลลาเจนสปองก์สามารถช่วยคงขนาดของสันกระดูกหลังถอนฟัน
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปี 2547, July-August ปีที่: 54 ฉบับที่ 4 หน้า 242-251
คำสำคัญ
Alveolar bone resorption, Extraction socket, Resorbable biomaterial sponge