ผลของโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจต่อพฤติกรรม การปรับตัวด้านร่างกายและระดับ HbA1C ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
ปรเมษฐ์ นามชู
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
                การวิจัยนี้ใช้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทำลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจต่อพฤติกรรมการปรับตัวด้านร่างกายและระดับ HbA1C ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยใช้แนวคิดการปรับของรอยและแนวคิดการเสริมสร้างพลังอำนาจของกิบสัน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ คือ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 สุ่มตามคุณสมบัติที่กำหนดจำนวน 40 คน โดย 20 คนแรก สุ่มเป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ และ 20 คนหลังสุ่มเป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจ โดยการสุ่มอย่างง่ายทุกขั้นตอน กลุ่มทดลองได้รับการพยาบาลแบบกลุ่มๆ ละ 5 คน เพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจ 4 ขั้นตอน 6 กิจกรรม ใช้เวลาดำเนินกิจกรรมครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 4 เดือน                เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล และแบบสอบถาม พฤติกรรมการปรับตัวด้านร่างกายในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งผู้วิจัยได้สร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมภายใต้กรอบทฤษฎีการปรับตัวของรอย และแนวทางการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ผู้วิจัยได้ดำเนินการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน หาค่าความเที่ยงโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค ได้เท่ากับ 0.97 ดำเนินการเก็บรวบรวม ข้อมูลระหว่างเดือนกันยายน 2552 ถึงมกราคม 2553 กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มได้รับการประเมินพฤติกรรม การปรับตัวด้านร่างกาย และระดับ HbA1C ก่อน และหลังการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ทดสอบที (Independent t-test และ Paired t-test)                ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจมีค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการปรับตัวด้านร่างกายโดยรวม และรายด้านสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ และมีระดับ HbA1C ต่ำกว่าผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และหลังได้รับโปรแกรมการเสริม สร้างพลังอำนาจ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการปรับตัวด้านร่างกายโดยรวม และรายด้าน สูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจ และมีระดับ HbA1C ลดต่ำลงกว่าก่อน การทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แสดงให้เห็นว่าการเสริมสร้างพลังอำนาจเป็นกระบวนการที่ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมการปรับตัวด้านร่างกาย และส่งเสริมพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาล ในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อเสนอแนะ ควรนำโปแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจนี้ไปใช้ เพื่อให้การพยาบาลกับผู้ป่วยที่คลินิกเบาหวาน แผนกผู้ป่วยนอก และควรมีการศึกษาติดตามวัดผล กิจกรรมการพยาบาล เพื่อเป็นการติดตามความต่อเนื่องของพฤติกรรมการปรับตัว
ที่มา
ยโสธรเวชสาร ปี 2554, May-August ปีที่: 12 ฉบับที่ 2 หน้า 123-134
คำสำคัญ
empowerment, การเสริมสร้างพลังอำนาจ, Type 2 diabetic patients, ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2, Glycated hemoglobin (HbA1C), Physiological adaptation, พฤติกรรมการปรับตัวด้านร่างกาย, ระดับฮีโมโกลบินที่มีน้ำตาลเกาะ (HbA1C)