ผลของการเสริมสร้างพลังอำนาจแบบกลุ่มต่ออาการหายใจลำบากและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีปัญหาซับซ้อน
จุฬารัตน์ สุริยาทัย*, มณีวรรณ วงศ์สุขพิศาล, ศรีมาย พันธุ์แก้ว, สารภี วงค์สิทธิ์
Department of Tha Wang Pha Hospital, Nan Province
บทคัดย่อ
                การวิจัยกึ่งทดลอง (one group pre and post test design) ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบอาการหายใจลำบากและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีปัญหาซับซ้อนก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจแบบกลุ่ม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วย COPD จำนวน 15 ราย ที่มีปัญหาซับซ้อนหลังจากเข้าโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด เลือกแบบมีเกณฑ์คัดเข้าจากโรงพยาบาลท่าวังผาระหว่างเดือน เมษายน – กรกฎาคม 2551 โดยนำกระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจแบบกลุ่มตามแนวคิดที่เสนอโดยกิบสัน ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ การค้นพบสภาพการณ์จริง การสะท้อนคิดอย่างมีวิจารณญาณ การตัดสินใจเลือกวิธีปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสม และการคงไว้ซึ่งการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ให้สามารถเพิ่มพลังอำนาจในตนเองแก่ผู้ป่วยสามารถแก้ไขปัญหาควบคุมภาวะหายใจลำบากของตนเองซึ่งจะส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เครื่องมือที่ใช้คือแบบวัดการรับรู้อาการหายใจลำบาก และแบบวัดดัชนีคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอดกั้นเรื้อรัง วิเคราะห์ข้อมูลทดสอบโดยสถิติที (paired t-test)                ผลการวิจัย พบว่าค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตกลุ่มตัวอย่างภายหลังการเข้าร่วมโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจแบบกลุ่ม มากกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และค่าเฉลี่ยอาการหายใจลำบากก่อนการเข้าร่วมโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจแบบกลุ่ม ของกลุ่มตัวอย่างลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2554, March-April ปีที่: 20 ฉบับที่ 2 หน้า 313-322
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, empowerment, การเสริมสร้างพลังอำนาจ, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, Chronic Pulmonary Obstructive Disease