การเปรียบเทียบประสิทธิภาพการนำสลบด้วยการสูดดมยา sevoflurane กับการใช้ยาฉีด propofol สำหรับผู้ป่วยนอกที่มาส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
วรรณวิมล แสงโชติ*, ศิขริน มนธาตุผลิน, เพชรรัตน์ วิสุทธิเมธีกร
Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University
บทคัดย่อ
                การศึกษาเปรียบเทียบลักษณะและคุณภาพ การนำสลบด้วยวิธีให้ผู้ป่วยสูดดมยา sevoflurane ร่วมกับไนตรัสออกไซด์และออกซิเจน กับวิธีฉีดยา propofol เข้าหลอดเลือดดำ สำหรับผู้ป่วยนอก 70 ราย ที่มารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ จัดอยู่ใน ASA physical status 1-3 เป็นการศึกษาแบบ randomized, prospective controlled trial จัดแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม ในกลุ่มที่ให้สูดดมยา sevoflurane ได้จัดเตรียมวงจรยาสลบ โดยให้มีไอระเหยของ sevoflurane 8% สัดส่วนไนตรัสออกไซด์และออกซิเจน 2:1 อัตราการไหลของก๊าซรวม 6 ลิตรต่อนาทีไว้ก่อน จากนั้นให้ผู้ป่วยหายใจเองตามปกติ จนหมดสติ ในกลุ่ม propofol ได้นำสลบโดยการฉีดยาซึ่งมีความเข้มข้น 1% ในขนาด 1.5 มก./กก. เข้าหลอดเลือดดำ โดยปรับให้อัตราเร็วของการฉีดยาเท่ากับ 20 มล./นาที หลังจากนั้นทุกรายได้ยา propofol จนเสร็จสิ้นการตรวจ ผลการศึกษาพบว่า การนำสลบด้วย sevoflurane ช้ากว่าการฉีดยา porpofol อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าเฉลี่ย 31.2 ±13.11 วินาที เปรียบเทียบกับ 22.83 ±7.27 วินาที) แต่การนำสลบด้วย sevoflurane ทำให้อุบัติการณ์เกิดความดันเลือดลดลงน้อยกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.004) ผู้ป่วย 28 ราย (คิดเป็นร้อยละ 93.99) ในกลุ่ม propofol มีอาการเจ็บปวดขณะได้รับยานำสลบ ภาวะไม่พึงประสงค์ระหว่างการระงับความรู้สึก เช่น หยุดหายใจ กลั้นหายใจ และกล้ามเนื้อกระตุก (myoclonus) เกิดในกลุ่ม propofol มากกว่า ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ให้ความเห็นว่าคุณภาพการระงับความรู้สึกเป็นที่พอใจ ผู้ป่วยในกลุ่ม sevoflurane มีความพร้อมที่จะจำหน่ายกลับบ้านได้เร็วกว่า สรุป: การนำสลบด้วยยา sevoflurane มีประสิทธิภาพดี และสามารถใช้เป็นทางเลือกในการนำสลบผู้ป่วยนอกที่มาส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ได้อย่างปลอดภัย
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2551, October-December ปีที่: 34 ฉบับที่ 4 หน้า 229-235
คำสำคัญ
Sevoflurane, Propofol, outpatient, Colonoscopy, Anesthetic induction, sevofluraneยา, การนำสลบ, ยา, การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่