การศึกษาผลของการให้ยา Tranexamic acid ทางหลอดเลือดดำเพื่อลดการเสียเลือดจากบาดแผลและลดการให้เลือดในการผ่าตัดข้อเข่าเทียมในคนไทย
กีรติ เจริญชลวาณิช, ฐิติกัญญา ดวงรัตน์*, ภัททิพา สุขโสภึ, สุภิญญา ติวิรัช, อรณัฐ มโหธร, เสาวภาคย์ ลาภมหาไพศาลDepartment of Anesthesiology, Faculty of Medicine, Siriraj Medical School, Mahidol University, Bangkok 10700
บทคัดย่อ
บทนำ : มีวีธีการหลายอย่างที่นำมาใช้เพื่อลดการสูญเสียเลือดจากบาดแผลในระหว่างผ่าตัด ผลการศึกษาการให้ tranexamic acid ในผู้ป่วยที่มารับการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในต่างประเทศมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้อาจเกิดจากขนาดและวิธีการให้ยา, เทคนิคการผ่าตัดและห้ามเลือดที่หลากหลายของศัลยแพทย์ รวมทั้งการให้ยาป้องกันโรคหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขาอุดกั้น วัตถุประสงค์ : การศึกษานี้ต้องการศึกษาผลของยา tranexamic acid ที่เป็นยาในกลุ่มต้านการสลายไฟบริน ที่มีต่อการสูญเสียเลือดและความต้องการให้เลือดทดแทนในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมวิธีปกติในคนไทยโดยศัลยแพทย์เพียงคนเดียว โดยไม่มีการให้ยาป้องกันโรคหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขาอุดกั้น วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาแบบสุ่มเลือก ปกปิดสองทางในผู้ป่วย 50 คน ASA I - III อายุ 18 - 80 ปี มีค่าฮีมาโตคริต มากกว่า 30% มารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม 1 ข้อ ในโรงพยาบาลศิริราช แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มแบบสุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้ tranexamic acid 10 มก./กก. ทางหลอดเลือดดำ ก่อนขึ้น tourniquet รัดต้นขา และอีกครั้งหลังจากนั้น 3 ชั่วโมง กลุ่มที่ 2 ได้นํ้าเกลือ normal saline ในปริมาตรเท่ากัน ทำการบันทึกปริมาณเลือดที่สูญเสียระหว่างการผ่าตัด, ปริมาณเลือดที่อยู่ในขวด drain ณ ห้องพักฟื้น, หลังผ่าตัดวันที่ 1, 2 และ 3 และวัดค่าฮีมาโตคริต ให้เลือดทดแทนเมื่อฮีมาโตคริตเท่ากับหรือตํ่ากว่า 30% ผู้ป่วยจะได้รับการเฝ้าระวังการเกิดโรคหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขาอุดกั้น และหลอดเลือดปอดอุดกั้น ตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดข้อเข่าเทียมของโรงพยาบาล ผลการศึกษา : ค่าเฉลี่ยของการเสียเลือดจากบาดแผลในกลุ่ม tranexamic acid (760.20 (307.50) มล.) ตํ่ากว่ากลุ่มควบคุม (1133.20 (424.40) มล.) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.003), ผู้ป่วยได้รับเลือดน้อยกว่าแต่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบภาวะแทรกซ้อนทางด้าน thromboembolicไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติสรุป : การให้ยา tranexamic acid ทางเส้นเลือดดำ ในขนาด 10 มก./กก. ก่อนการรัด tourniquet และ 10 มก./กก. หลังจากนั้น 3 ชั่วโมง สามารถลดการสูญเสียเลือดจากบาดแผลในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมข้างเดียว ในผู้ป่วยคนไทยที่ไม่ได้รับการให้ยาป้องกันโรคหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขาอุดกั้นได้ เฉลี่ยประมาณ 370 มล./ราย โดยไม่พบผลแทรกซ้อนในการเกิดภาวะ thromboembolic ที่เพิ่มขึ้น
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2554, January-March
ปีที่: 37 ฉบับที่ 1 หน้า 5-17
คำสำคัญ
Blood loss, Tranexamic acid, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม, Total knee replacement surgery, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข้าเทียม, การเสียเลือด, ยาต้านการสลายไฟบริน