การฝึกกล้ามเนื้อหายใจ: ผลต่อสมรรถภาพการทำงานของปอดในผู้ป่วยอัมพาตแขนขาทั้งสี่
สุวรรณี จรูงจิตรอารีSchool of Physiotherapy, Department of Orthopaedic Surgery, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok Thailand
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของวิธีการทางกายภาพบำบัด 3 วิธี คือ กายภาพบบำบัดทรวงอกแบบทั่วไป (Conventional chest physical therapy, CCPT) การออกกำลังต้านน้ำหนักจากถุงทรายที่วางบนหน้าท้อง (Abdominal weight exercise, AWE) และการฝึกกล้ามเนื้อหายใจเข้าด้วยเครื่องมือ Inspiratory muscle training (IMT) ต่อสมรรถภาพการทำงานของปอดในผู้ป่วยหลังได้รับการบาดเจ็บไขสันหลัง 6 เดือน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ของการศึกษาครั้งนี้บาดเจ็บไขสันหลังที่ระดับกระดูกต้นคอที่ 6 ผู้ถูกทดลองจะถูกสุ่มเพื่อเข้ากลุ่มรักษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและได้รับการฝึกหายใจวันละ 2 ครั้ง 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ มีการวัดค่าปริมาตรอากาศหายใจเข้า-ออกต่อครั้ง (Vt), ความจุชีพ (VC), แรงดันสูงสุดจากการหายใจเข้า (MIP) และแรงดันสูงสุดจากการหายใจออก (MEP) ก่อนและหลังการฝึก 4 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าภายหลังการฝึกต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ กลุ่ม AWE และกลุ่ม IMT มีค่า VC เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ลิตร ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยนสำคัญทางสถิติ (P <0.05) เมื่อเทียบกับค่า VC ก่อนการฝึกหายใจขณะที่กลุ่ม CCPT นั้น ค่า VC ก่อนและหลังการฝึกไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังพบว่าค่า MIP และ MEP เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังการฝึกในกลุ่ม AWE และ IMT (P < 0.05) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มพบว่าค่า MEP มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังการฝึกระหว่างกลุ่ม AWE กับกลุ่ม IMT (P < 0.05)
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2545, May-December
ปีที่: 24 ฉบับที่ 2 หน้า 1-11
คำสำคัญ
Abdominal weight exercise, Cervical cord injury, Inspiratory muscle training, Pulmonary function, Respiratory muscle