การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มโดยใช้แบบจำลองเภสัชกรเวชปฏิบัติต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
กนกพร นิวัฒนนันท์, พักตร์วิภา สุวรรณพรหม, พินิจ อัศวะแสงรัตน์, รัตนาภรณ์ อาวิพันธ์, วรรณดี แต้โสติกุล, วิพล รัชตุพงศ์ธร, สุรเกียรติ อาชานานุภาพ, อริสรา จันทร์ศรีสุริยวงศ์, อังกูร ภาวสุทธิไพศิฐ*Clinical Pharmacy Unit, Pharmacy Department, Nongbualamphu Hospital
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของแบบจำลองเภสัชกรเวชปฏิบัติต่อการปรับลดระดับน้ำตาลในเม็ดเลือดแดงและปัจจัยเสี่ยงทางหลอดเลือดและหัวใจในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ โดยการศึกษาทดลองแบบสุ่มในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้จำนวน 98 ราย (A1c≥8.0%) ที่คลินิกเบาหวาน กลุ่มงานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ.2549 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2550 จำแนกเป็นผู้ป่วยกลุ่มแรก 48 รายที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเข้มงวดโดยใช้แบบจำลองเภสัชกรเวชปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วยการประเมินความร่วมมือในการใช้ยา การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานในมุมมองของผู้ป่วยและพิจารณาปรับเปลี่ยนการใช้ยาเพื่อรักษาระดับน้ำตาลและปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจอื่นๆ ตามข้อกำหนดที่ได้รับการรับรองจากแพทย์ ผู้ป่วยกลุ่มที่สอง 50 รายเป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลรักษาตามปกติจากแพทย์ ประเมินผลลัพธ์ทางคลินิกขั้นต้นจากระดับน้ำตาลในเม็ดเลือดแดงและระดับน้ำตาลในเลือดช่วงอดอาหาร รวมทั้งผลลัพธ์รองจากระดับความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือดชนิด LDL และภาวะโปรตีนในปัสสาวะ ผลการศึกษาพบว่า ผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยเภสัชกรเวชปฏิบัติดีขึ้นกว่าผู้ป่วยกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าการปรับลดระดับน้ำตาลในเม็ดเลือดแดงและระดับน้ำตาลในเลือด เท่ากับ 2.1 กับ 0.9 เปอร์เซ็นต์ และ 48 กับ 27 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ, p < 0.01) ในขณะที่ระดับไขมันในเลือดและความดันโลหิตตัวบน (ซิสโตลิค) ทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้ ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยใช้แบบจำลองเภสัชกรเวชปฏิบัติจะได้รับการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานมากกว่ากลุ่มควบคุม จึงอาจสรุปได้ว่า การดำเนินการตามแบบจำลองเภสัชกรเวชปฏิบัติ ทำให้ผลลัพธ์จากการตรวจหาภาวะแทรกซ้อนและผลลัพธ์ทางคลินิกดีขึ้นอย่างชัดเจนในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปี 2554, January-April
ปีที่: 21 ฉบับที่ 1 หน้า 9-23
คำสำคัญ
Type 2 diabetes, โรคเบาหวานชนิดที่ 2, Clinical outcomes improvement, Glycemic control, Pharmacist practitioner model, ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, ผลลัพธ์ทางคลินิกที่ดีขึ้น, แบบจำลองเภสัชกรเวชปฏิบัติ