คุณภาพชีวิตในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุน: กรณีศึกษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
ฐณัฎฐา กิตติโสภี, อิสรีย์ จรรยาศักดิ์*Pharmacy Administration Unit, Faculty of Pharmaceutical Soience, Chulalongkorn University
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุนโดยใช้แบบสอบถาม Qualllefo 414 และเพื่อศึกษาหาปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุน โดยการศึกษาเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (cross-sectional descriptive study) เพื่อหาระดับคุณภาพชีวิตของสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปที่มีมวลกระดูก (BMD) น้อยกว่าหรือเท่ากับ ≤-2.5 หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือได้รับยารักษาโรคกระดูกพรุน ทำการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างจำนวน 134 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรงพยาบาลตำรวจ ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ.2552 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2553 แบบสอบถามที่ใช้ในการศึกษานี้ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย แบบวัดคุณภาพชีวิต (Qualeffo 41) และปัจจัยเกี่ยวกับความสนใจในสุขภาพและปัจจัยเกี่ยวกับการรักษา สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุดและค่าต่ำสุด รวมทั้งใช้การวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ (multiple regression analysis) คุณภาพชีวิตมีค่าคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 100 โดยมีค่าคะแนน 0 แสดงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด และค่าคะแนน 100 แสดงถึงคุณภาพชีวิตแย่ที่สุด ผลการศึกษา พบว่า ค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตของสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุนเท่ากับ 34.86 (±15.67) โดยในแต่ละด้านมีค่าดังนี้ ด้านความเจ็บปวดมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 30.34 (±25.27), ด้านการทำงานของร่างกายมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 36.82 (±21.52), ด้านการใช้เวลาว่างและกิจกรรมทางสังคมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 44.53 (±22.35), ด้านการรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพโดยทั่วไป มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 44.47 (±18.53), และด้านจิตใจมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 24.60 (±15.59) ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ได้แก่ อาชีพ (ลักษณะใช้แรงงานและงานบ้าน) ระยะเวลาหลังหมดประจำเดือน การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและโปรตีน โดยที่อาชีพการใช้แรงงานและงานบ้าน และระยะเวลาหลังหมดประจำเดือนมีความสัมพันธ์ทางบวกต่อค่าคะแนนคุณภาพชีวิต นั่นคือ ถ้าผู้ป่วยประกอบอาชีพใช้แรงงานหรืองานบ้านหรือมีระยะเวลาหมดประจำเดือนนาน จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ในขณะที่การออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและโปรตีน มีความสัมพันธ์ทางลบต่อค่าคะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้น จึงควรสนับสนุนให้มีการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและโปรตีนมากขึ้น เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปี 2554, January-April
ปีที่: 21 ฉบับที่ 1 หน้า 36-47
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, osteoporosis, Postmenopausal women, Qualeffo 41, สตรีวัยหมดประจำเดือน, แบบสอบถามวัดคุณภาพชีวิต, โรคกระดูกพรุน