เปรียบเทียบการให้ออกซิเจนและไม่ให้ออกซิเจนในระยะที่ 2 ของการคลอดต่อผลของBlood Gas ในหลอดเลือดแดงของสายสะดือ
พรไพโรจน์ มิตรปราสาทโรงพยาบาลสุรินทร์
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล : การให้ออกซิเจนแก่มารดาขณะคลอดได้มีการปฏิบัติกันทั่วไปโดยเฉพาะในกรณีที่ตรวจพบหรือสงสัยว่าทารกในครรภ์มีการขาดออกซิเจน ซึ่งมีหลายการศึกษาสนับสนุนแต่ได้มีการศึกษาที่พบว่า การให้ออกซิเจนเป็นระยะเวลานาน หรือให้ในขนาดสูงอาจส่งผลต่อค่า blood gas ของทารก ในครรภ์ได้ การศึกษาครั้งนี้ จึงต้องการทราบประโยชน์ของการให้ออกซิเจนแก่มารดาขณะคลอดในโรงพยาบาลศูนย์สุรินทร์ ซึ่งได้มีการปฏิบัติเป็นประจำโดยเฉพาะกรณีสงสัยทารกในครรภ์มีการขาดออกซิเจนวัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบค่าของ blood gas ในหลอดเลือดแดง ของสายสะดือระหว่างการให้ออกซิเจนและไม่ให้ออกซิเจนในระยะที่ 2 ของการคลอดในสตรีตั้งครรภ์ที่คลอดในโรงพยาบาลศูนย์สุรินทร์สถานที่ศึกษา : กลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลศูนย์สุรินทร์รูปแบบการวิจัย : วิจัยเชิงทดลองแบบไปข้างหน้า (prospective randomized clinical trial)วิธีการวิจัย : สตรีตั้งครรภ์ครบกำหนดคลอดที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะขาดออกซิเจนของทารกในครรภ์ ที่มาคลอดในโรงพยาบาลศูนย์สุรินทร์ จำนวน 52 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับออกซิเจน 10 ลิตรต่อนาทีผ่านทาง mask with bag และไม่ได้รับออกซิเจนในระยะที่ 2 ของการคลอด แบบสุ่มสลับ เจาะเลือดจากหลอดเลือดแดงของสายสะดือ ทันทีหลังคลอด ส่งตรวจหา blood gas บันทึกข้อมูลทั่วไปและค่า blood gas เปรียบเทียบทั้ง 2 กลุ่มสรุปผลการศึกษา : กลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับออกซิเจนไม่พบความแตกต่างของ APGAR score ที่1 นาที,5 นาที และ 10 นาที ค่าเฉลี่ยความดันก๊าซออกซิเจนในหลอดเลือดแดงของสายสะดือในกลุ่มที่ได้รับออกซิเจนมีค่าตํ่ากว่ากลุ่มที่ไม่ได้ออกซิเจน คือ 15.15±3.0 mmHg และ17.38±4.58 mmHg ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.043) ค่าเฉลี่ยความดันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลุ่มที่ได้รับออกซิเจน มีค่าสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับออกซิเจน คือ 58.50±7.04 mmHg และ 53.62±8.39 mmHg ตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.028) ค่าเฉลี่ย bicarbonate กลุ่มที่ได้รับออกซิเจน มีค่าสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับออกซิเจนคือ 27.60± 1.33 mmol/l และ 26.60±2.13 mmol/l ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.048)ส่วนค่าเฉลี่ยของ pH และค่าเฉลี่ยของ base excess ไม่มีความแตกต่างทางสถิติในกลุ่มที่ได้รับออกซิเจน ระยะเวลาที่ให้เฉลี่ย 23.81±16.58 นาทีสรุป : การให้ออกซิเจนในสตรีตั้งครรภ์ ขณะคลอดเป็นระยะเวลานานมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อระดับก๊าซในเลือดของทารก ควรจะมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลทีได้เพื่อจะนำไปปฏิบัติใช้ต่อไป
ที่มา
วารสารการแพทย์โรงพยาบาลศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ปี 2554, January-April
ปีที่: 26 ฉบับที่ 1 หน้า 23-31
คำสำคัญ
Blood gas, Oxygen, Umbilical artery