สัมฤทธิผลของการรักษาผู้ป่วยอีสานรวมมิตรด้วยหญ้าหนวดแมวและนอร์ฟลอกซาซินในสภาวะควบคุมอาหารมีพิวรีนสูง
Amorn Premgamone*, Srinoi Maskasem, Wattana Ditsataporncharoen, พจน์ ศรีบุญลือDepartment of Community Medicine, Faculty of Medicine, Khon Kaen University
บทคัดย่อ
ผู้ป่วยนิ่วไตในภาคอีสานมักจะมีอาการเรื้อรังหลายประการที่เรียกโดยรวมว่า “อาการอีสานรวมมิตร” ได้แก่ ปวดเส้นและกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดข้อ แน่นท้อง ปวดศีรษะอ่อนเพลีย ร้อนที่สีข้าง ปัสสาวะแสบขัด ซึ่งอาการเหล่านี้จะกำเริบเมื่อกินอาหารพิวรีนสูง ผู้วิจัยได้เคยรายงานว่าเมื่อให้ผู้ป่วยนิ่วไตที่มีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะดื่มชาชงหญ้าหนวดแมวติดต่อกันเป็นเวลานาน สามารถลดอาการเหล่านี้บางอาการรวมทั้งลดขนาดของนิ่วไตได้ วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อเปรียบเทียบสัมฤทธิ์ของการรักษาผู้ป่วยอีสานรวมมิตรที่พบหรือไม่พบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะด้วยหญ้าหนวดแมวหรือหญ้าหนวดแมวด้วยยาด้านจุลชีพ โดยดำเนินการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มไม่ให้ผู้วัดและผู้ถูกวัดทราบว่าตนได้รับยาตัวใด ในพื้นที่ 15 หมู่บ้านชนบทในจังหวัดขอนแก่น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ถึงกรกฎาคม 2548 ผู้ป่วยอีสานรวมมิตรที่เข้าร่วมโครงการ 209 ราย แต่สามารถติดตามผลได้เพียง 193 ราย (75 รายไม่พบ และ 118 ราย พบเม็ดเลือดขาว) แบ่งผู้ป่วยแบบสุ่มเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่: ก1 (39 ราย), ก2 (36 ราย), ก3 (60 ราย) และ ก4 (58 ราย) กลุ่ม ก1 ได้ยาหลอก, ก2 ได้ผงสกัดของหญ้าหนวดแมว (1 หลอด เทียบเท่า หญ้าหนวดแมวแห้ง 1.7 กรัม), ก3 ได้ยานอร์ฟลอกซาซิน 400 มิลลิกรัม, และ ก4 ได้ยาผงสกัดของหญ้าหนวดแมวบวกด้วยยานอร์ฟอกซาซิน ยาทุกตัวถูกบรรจุในหลอดลักษณะเหมือนกัน ยาสำหรับแต่ละหมายเลขในแต่ละกลุ่มย่อยจะจัดไว้ล่วงหน้าตามการสุ่มและนำรหัสไปเก็บซ่อนไว้จนถึงขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลจึงเปิดออก ทุกกลุ่มเต็มใจงดอาหารพิวรีนสูงในช่วง 2 สัปดาห์ของการวิจัย เมื่อใช้เกณฑ์การรักษาประสบผลสำเร็จ คือคะแนนความเจ็บปวดของแต่ละอาการที่กำลังกำเริบอยู่ก่อนเข้าสู่การทดลองลดลง ≥ ร้อยละ 50 ในผู้ป่วย ≥ ร้อยละ 50 ผลการทดลองพบว่าทั้ง 4 กลุ่มกินอาการพิวรีนสูงลดลงกว่าร้อยละ 90 ผลต่อการลดของความรุนแรงของทุกอาการที่มีในตอนเริ่มต้นผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้ทุกๆ อาการในทุกกลุ่ม ภายใน 2 สัปดาห์ (ค่าที < 0.001, Friedman test) โดยไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ยาหลอก ผงสกัดของหญ้าหนวดแมว ยานอร์ฟอกซาซิน หรือได้ยาผงสกัดของหญ้าหนวดแมวบวกด้วยยานอร์ฟอกซาซิน แต่หากดูจำนวนอาการที่กำเริบขึ้นใหม่เมื่อเข้าโครงการ เปรียบเทียบระหว่างสัปดาห์ที่ 1 กับสัปดาห์ที่ 2 พบว่าเฉพาะกลุ่ม ก1 (ยาหลอก) ที่จำนวนอาการไม่ลดลง ในขณะที่กลุ่ม ก2, ก3, ก4 นั้นมีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี < 0.05, ไค-สแควร์ เพียร์สัน) สรุปการศึกษาว่าการงดอาหารพิวรีนสูงสามารถลดความรุนแรงของอาการต่างๆ ของผู้ป่วยอีสานรวมมิตรในทุกกลุ่มที่ศึกษาได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อประเมินใน 2 สัปดาห์ แต่กลุ่มที่ได้หญ้าหนวดแมวและ/หรือยานอร์ฟลอกซาซินจะมีอาการอื่นๆ หายไปด้วยในสัปดาห์ที่ 2
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2551, May
ปีที่: 6 ฉบับที่ 2 หน้า 166-176
คำสำคัญ
Norfloxacin, renal stone, Chronic health complaints, Orthosiphon aristatus, Purine-rich food, จุกแน่นท้อง, นอร์ฟลอกซาซิน, นิ่วไต, ปวดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น, หญ้าหนวดแมว, อาหารพิวรีนสูง, อ่อนเพลีย