คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ จังหวัดสมุทรสงคราม
จันทนา บุญเดชา*, สมพร เนติรัฐกร
Samut Songkhram Provincial Public Health Office
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการดูแลตนเอง พฤติกรรมการดูแลตนเอง การได้รับการสนับสนุนทางสังคมและคุณภาพชีวิต ตลอดจนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี และผู้ป่วยเอดส์จังหวัดสมุทรสงคราม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มารับบริการปรึกษา ตรวจรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดสมุทรสงคราม ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม 2548 ที่ยินดีให้ความร่วมมือในการศึกษา จำนวน 151 ราย (จาก 182 ราย) เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรม SPSS/PW สถิติที่ใช้ ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา และ Multiple Regression Analysis ปรากฏผลการศึกษาดังนี้คือ                 ผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ร้อยละ 48.3 มีความสามารถในการดูแลตนเองอยู่ในระดับต่ำ รองลงมา ร้อยละ 38.4 และ 13.2 อยู่ในระดับปานกลางและสูง มีพฤติกรรมการดูแลตนเองอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 40.4 และ 1.3 อยู่ในระดับปานกลางและต่ำ ตามลำดับ ได้รับการสนับสนุนทางสังคมในระดับปานกลาง ร้อยละ 52.3 ระดับสูงและระดับต่ำ ร้อยละ 27.2 และ 20.5 ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.2 มีคุณภาพชีวิตในระดับปานกลาง รองลงมาคือ ระดับสูงและต่ำ ร้อยละ 29.8 และ 6.0 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี และผู้ป่วยเอดส์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.05) ได้แก่ ความสามารถในการดูแลตนเอง พฤติกรรมการดูแลตนเอง การยอมรับจากสังคม และการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์เชิงบวก ตัวแปรดังกล่าวร่วมกันอธิบายการผันแปรของคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ได้ร้อยละ 60.2 เมื่อพิจารณาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อคุณภาพชีวิตเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี พบแต่เพียงพฤติกรรมการดูแลตนเองเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์ต่อคุณภาพชีวิตในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value <0.01) ตัวแปรดังกล่าวอธิบายการผันแปรของคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี ได้ร้อยละ 53.5 ส่วนกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ ปัจจัยที่ความสัมพันธ์ต่อคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value < 0.05) ได้แก่ ภาวะสุขภาพ (แข็งแรงดี) ความสามารถในการดูแลตนเอง การยอมรับจากสังคมและการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งเป็นความสัมพันธ์เชิงบวก ส่วนสถานภาพสมรส (เดี่ยว) มีความสัมพันธ์เชิงลบต่อคุณภาพชีวิต ตัวแปรดังกล่าวร่วมกันอธิบายการผันแปรของคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเอดส์ ได้ร้อยละ 70.2
ที่มา
วารสารโรคเอดส์ ปี 2550, ปีที่: 19 ฉบับที่ 2 หน้า 102-113
คำสำคัญ
Quality of life, AIDS, คุณภาพชีวิต, เอดส์, HIV Infection, Samut Songkhram Province, การติดเชื้อเอ็ชไอวี, จังหวัดสมุทรสงคราม, การติดเชื้อเอชไอวี