การให้โปรแกรมความรู้ความเข้าใจเพื่อลดความวิตกกังวลต่อการผ่าตัดในผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันของโรงพยาบาลนครปฐม
เสาวนีย์ จันทร์ฉายDivision of Surgery, Nakhonpathom Hospital, Nakhonpathom Province
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยรูปแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการให้โปรแกรมความรู้ ความเข้าใจเพื่อลดความวิตกกังวลต่อการผ่าตัด โดยศึกษาในผู้ป่วย จำนวน 60 ราย ซึ่งได้รับการวินิจฉัยเป็นไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันและได้รับการผ่าตัดไส้ติ่ง ณ โรงพยาบาลนครปฐม ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2548 ผู้ป่วยที่ทำการศึกษามีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี และไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ กลุ่มตัวอย่างสุ่มโดยใช้วิธีจับคู่ (Match pair) ตามช่วงกลุ่มอายุเข้ากลุ่มควบคุม จำนวน 30 ราย และกลุ่มทดลอง จำนวน 30 ราย ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มได้รับการรักษาและการให้ข้อมูลตามปกติ แต่ในกลุ่มทดลองจะได้รับโปรแกรมความรู้ความเข้าใจที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคไส้ติ่งอักเสบ กระบวนการรักษาและการได้รับยาระงับความรู้สึกรวมทั้งการรับรู้สิ่งแวดล้อมต่างๆ ในห้องผ่าตัด ทั้งสองกลุ่มนี้ได้รับการประเมินวัดความวิตกกังวลโดยการตอบแบบสอบถามเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ก่อนที่จะเข้าห้องผ่าตัด ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้ในการศึกษาที่ผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นมา สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (X) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่า t (t-test)
ผลของการศึกษาพบว่าภาวะความวิตกกังวลของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่มทดลอง หลังการทดลองมีค่าคะแนนความวิตกกังวลต่ำกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนภาวะความวิตกกังวลของผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันในกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมความรู้ความเข้าใจมีค่าคะแนนความวิตกกังวลต่อการผ่าตัดต่ำกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 6-7 ปี 2549, October-December
ปีที่: 25 ฉบับที่ 4 หน้า 383-389