ผลของการฝังเข็มในการรักษาอาการเท้าชาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
สุนทร เสรีเชษฐพงศ์Ministry of Public Health, Laungpohpern Hospital, Nakornchisri District, Nakhonpathom
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงทดลอง วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลของการฝังเข็มในการรักษาอาการเท้าชาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการเท้าชาในคลินิกเบาหวานโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น 40 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น กลุ่มทดลอง 20 คน และกลุ่มควบคุม 20 คน โดยวิธี simple random sampling ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มจะได้รับการดูแลตามปกติในคลินิกเบาหวานของโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยในกลุ่มทดลองจะได้รับการผังเข็มบริเวณขาทั้งสองข้าง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวม 8 ครั้ง ก่อนและหลังการทดลอง 1 สัปดาห์ จะมีการทดสอบระดับความชาของเท้าทั้งสองข้างในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม ด้วย Semmes-Weinstien monofilament เปรียบเทียบความแตกต่างของอาการเท้าชาในกลุ่มทดลองก่อนและหลังการฝังเข็มด้วยสถิติ t-test และเปรียบเทียบความแตกต่างของอาการเท้าชาหลังการฝังเข็มในกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมด้วยสถิติ t-test
ผลการศึกษาพบว่า อากาเท้าชาในกลุ่มทดลองหลังการฝังเข็มดีขึ้นแตกต่างกันก่อนและฝังเข็มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และหลังจบการศึกษา อาการเท้าชาในกลุ่มทดลองดีขึ้นแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน จึงสามารถสรุปได้ว่าไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบผลลัพธ์ของการฝังเข็มในกลุ่มทดลองด้วยกันเองระหว่างก่อนและหลังฝังเข็ม หรือเปรียบเทียบผลลัพธ์หลังการฝังเข็มระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม การฝังเข็มก็มีผลในการรักษาอาการเท้าชาในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ดีกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น p < 0.05
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 6-7 ปี 2550, October-December
ปีที่: 26 ฉบับที่ 4 หน้า 405-412
คำสำคัญ
Pcupuncture, Peripheral Neuropathy