การศึกษาเปรียบเทียบไปข้างหน้าแบบสุ่มเพื่อประเมินประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าของต้นทุนประสิทธิผลในการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษโดยการใช้ไอโอดีน-131 ด้วยความแรงรังสีสูงและต่ำ
กุลธร เทพมงคล, จุฬาลักษณ์ โกมลตรี, นภมน ศรีตงกุล, พงษ์พิชา ตู้จินดา, พจี เจาฑะเกษตริน, ภาวนา ภูสุวรรณ*, มลุลี ตัณฑวิรุฬห์, สุทิน ศรีอัษฎาพร, เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ, เบญจาภา เขียวหวานDivision of Nuclear Medicine, Department of Radiology, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, 2 Prannok Road, Bangkoknoi, Bangkok 10700, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของต้นทุนประสิทธิผลของการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ด้วยไอโอดีนรังสีแบบความแรงรังสีสูงและต่ำ
วัสดุและวิธีการ: ทำการสุ่มผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ 150 ราย ที่ถูกส่งมารับการรักษาด้วยไอโอดีน-131 เป็นสองกลุ่ม โดยผู้ป่วย 74 ราย ได้รับการรักษาด้วยความแรงรังสีสูง ผู้ป่วย 4 ราย ในกลุ่มที่ได้รับความแรงรังสีสูงและ 1 ราย ในกลุ่มได้รับความแรงรังสีต่ำถูกคัดออกเนื่องจากไม่ได้มาตรวจติดตามผล ความแรงรังสีต่อน้ำหนักต่อมไทรอยด์ที่ใช้ในกลุ่มได้รับความแรงรังสีสูงและต่ำคือ 150 ไมโครคูรี/กรัม และ 100 ไมโครคูรี/กรัมตามลำดับ ความแรงรังสีเฉลี่ยของไอโอดีนรังสีที่ใช้รักษาครั้งแรกในกลุ่มความแรงรังสีสูงและต่ำคือ 10.2 และ 8 มิลลิคูรีตามลำดับ มีผู้ป่วย 25 ราย ในกลุ่มความแรงรังสีสูง และ 40 ราย ในกลุ่มได้รับความแรงรังสีต่ำ ได้รับไอโอดีนรังสีซ้ำ ทำการศึกษาผลการรักษาทางคลินิกและค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งคิดจากค่าใช้จ่ายในการมารับการตรวจรักษาค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการและการรักษาที่เกี่ยวข้องจนครบระยะเวลาหนึ่งปีหลังการรักษาด้วย ไอโอดีน-131
ผลการศึกษา: ที่ 6 เดือนหลังรักษาพบผู้ป่วยที่ยังคงมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ 45 ราย (ร้อยละ 64.3) ในกลุ่มได้รับความแรงรังสีสูงและ 59 ราย (ร้อยละ 78.7) ในกลุ่มได้รับความแรงรังสีต่ำ ผลการรักษาที่หนึ่งปีพบว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับความแรงรังสีสูง 21 ราย (ร้อยละ 30) และผู้ป่วย 36 ราย (ร้อยละ 48) ของกลุ่มได้รับความแรงรังสีต่ำ ยังคงมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ที่หนึ่งปีหลังการรักษาพบว่ากลุ่มได้รับความแรงรังสีสูงสามารถหายจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้เร็วกว่ากลุ่มได้รับความแรงรังสีต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (259.6 วัน ในกลุ่มได้รับความแรงรังสีสูง และ 305.5 วัน ในกลุ่มได้รับความแรงรังสีต่ำ ค่า p = 0.008) ในกลุ่มที่ยังมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่หนึ่งปีหลังรักษา กลุ่มที่ได้รับความแรงรังสีต่ำจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (10,942.79 บาท และ 13,422.78 บาท ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยความแรงรังสีสูงและต่ำตามลำดับ p = 0.050)
สรุป: การรักษาด้วยไอโอดีนรังสีความแรงรังสีสูงมีประสิทธิภาพสูงกว่า และทำให้ผู้ป่วยหายจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษเร็วกว่าการรักษาด้วยความแรงรังสีต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในผู้ป่วยที่ยังอยู่ในภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่หนึ่งปีหลังรักษาด้วยไอโอดีนรังสี พบว่ากลุ่มที่เริ่มต้นการรักษาด้วยความแรงรังสีต่ำมีค่าใช้จ่ายของการรักษาเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มที่เริ่มต้นการรักษาด้วยความแรงรังสีสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ ปี 2554, March
ปีที่: 94 ฉบับที่ 3 หน้า 361-368
คำสำคัญ
cost-effectiveness, Hyperthyroidism, Radioiodine treatment, High and low dose regimens