คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังจากอุบัติเหตุ
ปิยะภัทร เดชพระธรรม*, Racharin KongkasuwanDepartment of Rehabilitation Medicine, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Bangkok 10700, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังจากอุบัติเหตุ และหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตที่ดี
วัสดุและวิธีการ: ทำการสัมภาษณ์ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังจากอุบัติเหตุที่เคยเข้ารับการฟื้นฟูสภาพแบบผู้ป่วยในที่ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ มกราคม พ.ศ. 2546 ถึง สิงหาคม พ.ศ. 2553 ด้วยแบบสอบถามได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถาม WHOQOL-BREF (Thai) ซึ่งใช้ประเมินคุณภาพชีวิต แบบสอบถาม The Center for Epidemiologic Studies-Depression scale ซึ่งใช้ประเมินภาวะซึมเศร้า และแบบประเมิน Modified Barthel Index (BI) ซึ่งใช้ประเมินเกี่ยวกับความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บนั้น ได้จากเวชระเบียนผู้ป่วย การวิเคราะห์ทางสถิติทำโดยใช้วิธี median split แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีคุณภาพชีวิตดีและกลุ่มที่มีคุณภาพชีวิตไม่ดี แล้วใช้ Chi-square และ Independent sample t-test มาทดสอบความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่ม และหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยใช้การวิเคราะห์ multivariate logistic regression ทั้งนี้ค่า p < 0.05 ถือว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ
ผลการศึกษา: ผู้ป่วย 67 คน (ชาย 49 คน และหญิง 18 คน) อายุเฉลี่ย 36.54 + 11.46 ปี ได้รับอุบัติเหตุจากการจราจร 67.2% ถูกยิง 16.4% ตกจากที่สูง 11.9% และจากสาเหตุอื่น 4.5% ได้รับบาดเจ็บที่ระดับคอ 31.3% อก 50.7% เอว และกระเบนเหน็บ 18% ผู้ป่วยส่วนมาก (60.6%) มีการบาดเจ็บแบบไม่เต็มส่วน ผู้ป่วย 18 คน (26.1%) มีภาวะซึมเศร้า ค่าคะแนน BI เฉลี่ยเท่ากับ 69.71 + 29.42 ผู้ป่วย 3 คน (4.5%), 49 คน (73.1%) และ 15 คน (22.4%) รายงานว่ามีคุณภาพชีวิตไม่ดี ปานกลางและดีตามลำดับ เมื่อใช้วิธี median split พบว่าผู้ป่วยที่มีค่าคะแนนคุณภาพชีวิตสูงกว่า 83 จัดอยู่ในกลุ่มที่มีคุณภาพชีวิตดีและต่ำกว่า 83 จัดอยู่ในกลุ่มที่มีคุณภาพชีวิตไม่ดี โดยคะแนนรายด้านของทั้ง 2 กลุ่ม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติพบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีคุณภาพชีวิตระดับดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การมีรายได้ที่เพียงพอ (OR 13.67, 95% CI: 3.1-60.22, p = 0.001) ไม่มีภาวะซึมเศร้า (OR 7.6, 95% CI: 1.17-49.22, p = 0.033) และการมีงานทำ (OR 6.88, 95% CI: 1.44-32.94, p = 0.016)
สรุป: ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง ปัจจัยที่มความสัมพันธ์กับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้แก่ รายได้ที่เพียงพอ ไม่มีภาวะซึมเศร้า และการมีงานทำ
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ ปี 2554, October
ปีที่: 94 ฉบับที่ 10 หน้า 1252-1259
คำสำคัญ
Depression, Quality of life, Income, Spinal cord injury, Work