การจัดการตนเอง ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้าและคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลที่เท้า
รุ้งระวี นาวีเจริญ
Faculty of Nursing, Chulalongkorn University, Bangkok 10330, Thailand
บทคัดย่อ
 
ภูมิหลัง: แผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานส่งผลกระทบด้านลบกับคุณภาพชีวิตและการจัดการตนเองถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลรักษาเบาหวาน อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการตนเองระดับน้ำตาล และคุณภาพชีวิตในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลเท้าที่เท้าในประเทศไทย
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าการจัดการตนเอง ระดับน้ำตาลในเลือดและคุณภาพชีวิตในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลที่เท้า ซึ่งมารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประเทศไทย
วัสดุและวิธีการ: การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบตัดขวางในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลที่เท้าจำนวน 80 ราย ซึ่งได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามประกอบด้วย ข้อมูลพื้นฐาน ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้า แบบสอบถามการจัดการตนเองและคุณภาพชีวิตในผู้ที่เป็นเบาหวาน แบบสอบถามการจัดการตนเองประเมินเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยา การเฝ้าระวังตนเอง สุขอนามัย และการดูแลเท้า แบบสอบถามคุณภาพชีวิตใช้แบบวัดคุณภาพชีวิต WHOQOL–BREF–THAI จำนวน 26 ข้อ เก็บข้อมูลเฉพาะเจาะจงจากคลินิกผู้ป่วยนอกศัลยกรรมและคลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ระยะเวลาการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2552 ถึง ตุลาคม พ.ศ. 2553 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติสหสัมพันธ์เพียร์สัน
ผลการศึกษา: พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 51.3 อายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 50 ในขณะที่เป็นผู้ป่วยที่มี
ความรุนแรงของแผลระดับ 1 ร้อยละ 61.5 เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ ระหว่างระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้าและคุณภาพชีวิตพบว่ามีความสัมพันธ์ทางลบอย่างมีนัยสำคัญ (r = -0.30, p < 0.05) และความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการตนเองและคุณภาพชีวิตพบว่ามีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญ (r = 0.35, p < 0.05)
สรุป: จากผลการศึกษานี้เสนอแนะว่า คุณภาพชีวิตที่ดีสัมพันธ์กับการจัดการตนเองที่ดีและระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้าในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลที่เท้า ดังนั้นผู้ที่เป็นเบาหวานมีแผลที่เท้าควรได้รับการส่งเสริมให้มีการจัดการตนเองเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปสู่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2555, February ปีที่: 95 ฉบับที่ 2 หน้า 156-162
คำสำคัญ
Quality of life, Diabetes, Foot ulcer, SELF-MANAGEMENT