การศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนประสิทธิผลของวิธีการผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็กและวิธีสลายด้วยคลื่นความถี่สูงสำหรับผู้ป่วยโรคต้อกระจก ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า ประเทศไทย
พิพัฒน์ คงทรัพย์, สุดสวาทสวัสด์ิ ภูมิพันธ์, อัมพร จงเสรีจิตต์*, เชี่ยวชาญ วิริรยะลัพภะ
Department of Ophthalmology, Prasat Neurological Institute, Bangkok 10400, Thailand
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนและประสิทธิผลของวิธีการผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็ก (MSICS) และวิธีสลายด้วยคลื่นความถี่สูง (PE) สำหรับผู้ป่วยโรคต้อกระจก ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า ในมุมมองของโรงพยาบาล
วัสดุและวิธีการ: การศึกษาแบบไปข้างหน้า (Prospective study) โดยใช้แบบเก็บข้อมูลและการสัมภาษณ์จากผู้ป่วยต้นทุนประกอบด้วยค่าแรง ค่าวัสดุและเครื่องมือ ค่าสิ่งปลูกสร้าง ในปี พ.ศ. 2548 ปรับค่าเงินบาทเป็นปี พ.ศ. 2549 โดยดัชนีผู้บริโภค ประสิทธิผลได้แก่ค่าระดับสายตา ค่าสายตาเอียงและภาวะแทรกซ้อน ในวันที่ 1, 2, 7, 14, 28 และ 90 หลังจากผ่าตัด เก็บข้อมูลแปลจากรายงานทางการแพทย์และแบบสัมภาษณ์ผู้ป่วย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดโดยวิธีเลือกแบบสะดวก วิเคราะห์ข้อมูลโดยโปรแกรมสถิติ SPSS 11.5
ผลการศึกษา: ต้นทุนเฉลี่ยของวิธี MSICS เป็นเงิน 10,043.81 บาทต่อรายและวิธี PE เป็นเงิน 11,590.72 บาทต่อรายหลังการผ่าตัด 90 วัน พบว่า ค่าเฉลี่ยระดับสายตา มีค่า 0.83 และ 0.74 โดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของทั้ง 2 กลุ่ม สำหรับค่าสายตาเอียง ค่าเฉลี่ยสายตาเอียงหลังผ่าตัด 90 วัน มีค่า 1.01 D. และ 0.99 D. ค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงสายตาเอียงมีค่า 0.15 D. และ 0.20 D. สำหรับกลุ่ม MSICS และ PE ตามลำดับ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัดคือมีการหลุดของวุ้นตา (1.40%) เกิดขึ้นในวิธี PE ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด คือกระจกตาบวม (5.60%) เกิดขึ้นในวิธี MSICS โดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ในวันที่ 90 หลังการผ่าตัดระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม
สรุป: ประสิทธิผลของวิธี MSICS ไม่มีความแตกต่างกับวิธี PE อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในวันที่ 90 หลังการผ่าตัดโดยต้นทุนของวิธี PE สูงกว่าวิธี MSICS ดังนั้น MSICS เป็นวิธีที่มีประสิทธิผลดีกว่าเมื่อเทียบกับวิธี PE การผ่าตัดวิธี MSICS ควรเป็นวิธีผ่าตัดต้อกระจกที่ควรเลือกเมื่อเปรียบเทียบกับวิธี PEในมุมมองของโรงพยาบาล
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2555, February ปีที่: 95 ฉบับที่ 2 หน้า 212-220
คำสำคัญ
Phacoemulsification, Cost-effectiveness analysis, Manual small incision cataract surgery