คุณภาพชีวิตของทหารเรือประจำการ คู่สมรสที่รอดชีวิตภายหลังประสบภัยธรณีพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ 6 เดือน ณ ฐานทัพเรือพังงา ประเทศไทย
ธนุช พุทธาวรางค์, ปราการ ถมยางกูร, รณชัย คงสกนธ์*Department of Psychiatry, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University Bangkok 10400, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิต่อคุณภาพชีวิตของทหารเรือประจำการ หรือคู่สมรสที่รอดชีวิตภายหลังประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ 6 เดือน
วัสดุและวิธีการ: เก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในช่วงวันที่ 24 กรกฏคม ถึง 5 สิงหาคม พ.ศ. 2549 โดยใช้แบบประเมินคุณภาพชีวิต (SF-36) ฉบับภาษาไทยซึ่งรวมทั้งแบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง มีผู้เข้าร่วมในการศึกษา 434 คน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นชาย (ร้อยละ 77) มีสถานภาพสมรส (ร้อยละ 67) อายุเฉลี่ยประมาณ 34 ปี
ผลการศึกษา: พบว่าทหารเรือประจำการหรือคู่สมรสมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่าข้อมูลคุณภาพชีวิตกึ่งมาตรฐานของประชากรไทย (กรุงเทพมหานคร) ในเกือบทุกด้านยกเว้นด้านสมรรถนะทางร่างกาย,ความเจ็บปวดของร่างกาย, และบทบาททางสังคม และยังพบว่าคลื่นยักษ์สึนามิมีผลกระทบต่อทหารเรือ หรือ คู่สมรส อย่างมากที่สุดคือ ปัญหาทางด้านจิตใจ ส่วนใหญ่ของผู้รอดชีวิตที่ประสบกับปัญหาสุขภาพจิตใจอย่างรุนแรงเป็นเพศหญิง มีการศึกษาต่ำ มีรายได้ลดลง มีการสูญเสียของสมาชิกในครอบครัว/คนที่รักหรือทรัพย์สินเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต บุคคลเหล่านี้ต้องการการช่วยเหลือทางสังคม และการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจที่เพียงพอและเหมาะสม อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าการเผชิญหน้ากับคลื่นยักษ์สึนามิมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับคุณภาพชีวิตทางด้านความเจ็บปวดทางร่างกายเท่านั้น
สรุป: การศึกษาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ในการที่จะจำแนกและเข้าถึงความต้องการของผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ การให้ความช่วยเหลือทั้งภายในและนอกประเทศ สามารถนำความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตภายหลังประสบภัย ช่วยเป็นแนวทางในการจัดสรรความช่วยเหลือและส่งเสริมคุณภาพชีวิต ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อไป
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2555, May
ปีที่: 95 ฉบับที่ 5 หน้า 716-722
คำสำคัญ
Quality of life, Tsunami disaster, Phang-Nga Naval Base, MOS SF-36