ภาวะแทรกซ้อนของมารดาและทารกในผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่รักษาโดยใช้เป้าหมายน้ำตาลหลังอาหาร 1 ชั่วโมงกับน้ำตาลหลังอาหาร 2 ชั่วโมง
อภิวัฒน์ ยาประเสริฐ*, ทิพาพร ธาระวานิช, จรินทร์ทิพย์ สมประสิทธิ์, ณัฎฐิณี จรัสเจริญวิทยา, พิชญ์วรา พันธุ์พิทย์แพทย์, สุธน พรธิสาร, ทิพาพร ธาระวานิช, วิราภรณ์ ยอดวิศิษฎ์ศักดิ์, จรินทร์ทิพย์ สมประสิทธิ์, ต้องตา นันทโกมลInternal Medicine Resident, Department of Medicine, Faculty of Medicine, Thammasat University
บทคัดย่อ
บทนำ: โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อมารดาและทารกแรกเกิด การรักษาทำได้โดยควบคุมอาหารหรือฉีดอินซูลิน การติดตามการรักษาคือการตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วซึ่งแนะนำให้เจาะหลังอาหาร 1 หรือ 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ดียังไม่มีหลักฐานเพียงพอถึงเวลาที่เหมาะสมในการเจาะเลือด เพื่อติดตามการรักษาและการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วย
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยรวมทั้งในมารดาและทารกแรกเกิดในกลุ่มที่รักษาโดยใช้เป้าหมายระดับน้ำตาลที่ 1 ชั่วโมง หรือ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร
วิธีการวิจัย: การศึกษาแบบสุ่มแบบไปข้างหน้า คัดกรองผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์จำนวน 106 คน ผู้ที่คัดเข้าแบ่งเป็นกลุ่มที่รักษาโดยใช้เป้าหมายระดับน้ำตาลที่ 1 ชั่วโมงหลังอาหาร ≤ 140 มก. ต่อ ดล. (26 คน) และกลุ่มระดับน้ำตาลที่ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร ≤ 120 มก. ต่อ ดล. (20 คน) มีการประเมินการรักษาโดยอายุรแพทย์ สูติแพทย์ พยาบาล โภชนากร และมีการตรวจอัลตราซาวด์ครรภ์เป็นระยะ มีการบันทึกระดับน้ำตาล อัตราการใช้อินซูลินและปริมาณอินซูลินที่ฉีด อายุครรภ์ที่คลอดวิธีการคลอดและภาวะแทรกซ้อนในมารดาและทารกแรกเกิด
ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการศึกษาอายุเฉลี่ย 33.43± 4.90 ปี อายุครรภ์ที่วินิจฉัยโรค 24.07±5.50 สัปดาห์ ฮีโมโกลบินเอวันซีเฉลี่ยร้อยละ 5.15 ± 0.52 กลุ่มที่รักษาโดยใช้เป้าหมายระดับน้ำตาลที่ 1 ชั่วโมงและ 2 ชั่วโมง มีระดับน้ำตาลเฉลี่ย 126.15±9.33 และ 111.25±11.19 มก.ต่อ ดล. ตามลำดับ อัตราการฉีดอินซูลิน (0.13±0.17 ยูนิต ต่อ กก. และ 0.14±0.21 ยูนิต ต่อ กก.; ค่าพี = 0.39) อายุครรภ์ที่คลอด (37.06±1.53 สัปดาห์ และ 38.24±0.77 สัปดาห์; ค่าพี = 0.09) การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง (ร้อยละ 71 และร้อยละ 61.90; ค่าพี = 0.30) น้ำหนักทารกแรกเกิด (3038.80±640.52 กรัม และ 2961.90±463.44 กรัม; ค่าพี = 0.69) ภาวะแทรกซ้อนในมารดา (ร้อยละ 8 และร้อยละ 10; ค่าพี = 0.86) และภาวะแทรกซ้อนในทารกแรกเกิด (ร้อยละ 24 และร้อยละ 5 ตามลำดับ; ค่าพี = 0.07) ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสองกลุ่ม
สรุป: การรักษาผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์โดยใช้เป้าหมายระดับน้ำตาลปลายนิ้วหลังอาหารที่ 1 หรือ 2 ชั่วโมง ไม่มีความแตกต่างกันในแง่อัตราการฉีดอินซูลิน ปริมาณการใช้อินซูลิน อายุครรภ์ที่คลอด การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง น้ำหนักทารกแรกเกิด ภาวะแทรกซ้อนในมารดา ภาวะแทรกซ้อนในทารกแรกเกิด
ที่มา
ธรรมศาสตร์เวชสาร ปี 2554, July-September
ปีที่: 11 ฉบับที่ 3 หน้า 390-400
คำสำคัญ
complication, ภาวะแทรกซ้อน, Gestational Diabetes Mellitus, Postprandial glycemic, เบาหวานในการตั้งครรภ์, ระดับน้ำตาลหลังอาหาร