ผลของการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยจิตเภทและการให้ความรู้ด้านยาแก่ผู้ดูแล
จันทร์ทิพย์ กาญจนศิลป*, จิตรา เกณฑ์กระโทก, จุฑามณี ดุษฎีประเสริฐ, อารีรัตน์ ลีละธนาฤกษ์
Faculty of Pharmacy, Mahasarakham University
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยจิตเภทและการให้ความรู้ด้านยาแก่ ผู้ดูแล วัสดุและวิธีการการศึกษา เป็นเชิงทดลองแบบมีการสุ่ม โดยกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยนอกจิตเภทและผู้ดูแลที่มารับบริการที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ดำเนินการระหว่างวันที่ 6 มกราคม
ถึงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 มีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 51 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง (ให้บริบาลทางเภสัชกรรม) จำนวน 25 ราย และกลุ่มควบคุม (รับบริการ ตามปกติ) จำนวน 26 ราย
ผล: หลังการศึกษาผู้ป่วยในกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความร่วมมือในการใช้ยารักษาโรคจิตมากกว่ากลุ่ม ควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 91.0 ± 14.2 และ ร้อยละ 78.4 ± 17.9; p< .01) และพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (15 ปัญหา และ 31 ปัญหา; p= .02) คะแนนเฉลี่ยความรู้เกี่ยวกับการใช้ยารักษาโรคจิตและการดูแลปฏิบัติตัวของผู้ป่วยในกลุ่มทดลอง มีมากกว่า กลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (10.7 ± 1.4 และ 9.4 ± 1.7) ผู้ดูแลในกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้ มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (11.1 ± 1.2 และ 9.6 ± 1.6; p< .01) และหลังการให้บริบาลทางเภสัชกรรม พบว่าสามารถประหยัดต้นทุนการรักษาได้เป็นจำนวนเงิน 50.16 ± 179.87 บาท
สรุป: การให้บริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยโรคจิตเภท และ การให้ความรู้แก่ผู้ดูแลช่วยเพิ่มความรู้แก่ผู้ป่วย และผู้ดูแลลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา และปัญหาความไม่ร่วมมือในการใช้ยารักษาโรคจิตของผู้ป่วย รวมถึงสามารถประหยัดต้นทุนการรักษาได้
 
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ปี 2554, October 53-September 54 ปีที่: 11 ฉบับที่ 1 หน้า 40-50
คำสำคัญ
Schizophrenia, ผู้ดูแล, CAREGIVERS, Pharmaceutical care, การบริบาลทางเภสัชกรรม, Drug counseling, จิตเภท, การให้ความรู้ด้านยา