ผลของการนำสลบด้วย Propofol ระหว่างการใส่ท่อช่วยหายใจ โดยใช้เครื่อง Target controlled infusion (TCI) เปรียบเทียบกับวิธีฉีดยาปกติ
Tanyarat Taweesangsuksakul
Department of Anesthesiology, Khon Kaen Hospital
บทคัดย่อ
 
บทนำ: Target-controlled infusion (TCI) เป็นวิธีการฉีดยาทางหลอดเลือดดำรูปแบบใหม่เพื่อให้ได้ระดับยาในเลือดหรือตำแหน่งออกฤทธิ์ของยาตามที่ต้องการ แม้ว่าบางการศึกษาพบว่าสามารถนำสลบได้โดยผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งระบบหายใจไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ประโยชน์ของ TCI ที่เหนือกว่าวิธีการฉีดยานำสลบตามปกติก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการนำสลบด้วย Propofol ในระหว่างการใส่ท่อช่วยหายใจโดยใช้เครื่อง TCI เปรียบเทียบกับวิธีฉีดยาปกติ
วิธีการศึกษา: ทำการศึกษาแบบ Prospective randomized controlled trial ในผู้ป่วย 120 คน (ASA class I and II, อายุ 20-60 ปี) โดยแบ่งผู้ป่วยแบบสุ่มเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลองผู้ป่วยได้รับการนำสลบด้วย propofol โดยใช้เครื่อง TCI โดยตั้งระดับยาในเลือดที่ 4µg/ml กลุ่มควบคุม ผู้ป่วยได้รับการฉีด propofol 2 mg/kg ทั้งสองกลุ่มได้รับ rocuronium เป็นยาหย่อนกล้ามเนื้อเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ วัดค่าเฉลี่ยความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจที่เวลาต่างๆ (B0, B1, B2, T1, T2, T3, T4, T5, T10) หลังจากนั้นนำผลการวิเคราะห์ด้วย Chi-square tests, independent t-test and paired t-test
ผลการศึกษา: ค่าเฉลี่ยความดันโลหิต, อัตราการเต้นของหัวใจที่เวลาต่างๆ และคะแนนความราบรื่นในการใส่ท่อช่วยหายใจระหว่าง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน แต่พบค่าเฉลี่ยความดันโลหิต, อัตราการเต้นของหัวใจหลังจากใส่ท่อช่วยหายใจทันทีเพิ่มขึ้นจากเดิมเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ทั้ง 2 กลุ่ม และปริมาณ propofol ในกลุ่ม TCI ใช้มากกว่ากลุ่มที่ฉีดนำสลบแบบปกติ
สรุป: การใช้เครื่อง TCI สำหรับการนำสลบอาจจะไม่มีประโยชน์ที่เหนือกว่าการฉีดยานำสลบแบบปกติ ในแง่การเปลี่ยนแปลงความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณ propofol ที่ใช้นำสลบ พบว่าการใช้เครื่อง TCI สิ้นเปลืองยามากกว่าโดยที่ไม่พบประโยชน์ที่เหนือกว่าการฉีดยาปกติ
 
ที่มา
ขอนแก่นเวชสาร ปี 2553, January-April ปีที่: 34 ฉบับที่ 1 หน้า 27-33