ผลของการใช้แนวทางปฏิบัติในการดูแลรักษาทารกที่มีภาวะตัวเหลืองต่ออัตราการกลับเข้ามารักษาในโรงพยาบาล ภาวะตัวเหลืองอย่างรุนแรงและค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล
ปรียาพันธ์ แสงอรุณ, เกศสิรี กรสิทธิกุล*, แสงแข ชำนาญวนกิจDepartment of Pediatrics, Phramongkutklao Hospital
บทคัดย่อ
บทนำ: ภาวะตัว เหลืองในทารกแรกเกิดเป็นปัญหาที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทารกต้องกลับเข้ามารักษาในโรงพยาบาล ภายในเดือนแรกหลังคลอด การพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการดูแลรักษาทารกที่มีภาวะตัวเหลืองจะช่วยให้แพทย์มีแนวทางในการตัดสินใจให้การรักษา และติดตามทารกที่มีภาวะตัวเหลืองได้ดียิ่งขึ้น วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินผลของการใช้แนวทางปฏิบัติในการดูแลรักษาทารกที่มีภาวะตัวเหลืองในการลดอัตราการกลับเข้ามารักษาในโรงพยาบาล ลดอัตราการเกิดภาวะตัวเหลืองอย่างรุนแรง และลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลต่อทารกคลอด 1,000 ราย วิธีการศึกษา: ทำการศึกษาในทารกคลอดในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ระหว่าง 11 มิ.ย. ถึง 11 ธ.ค. 2550 ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 35 สัปดาห์ และน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 2,000 กรัมขึ้นไปทารกที่มีภาวะตัวเหลืองจะได้รับการตรวจวัดระดับบิลิรูบินในเลือด การตัดสินใจให้การรักษาและการนัดติดตามทารกภายหลังกลับบ้าน ยึดตามแนวทางปฏิบัติที่กำหนด เปรียบเทียบอัตราการกลับเข้ามารักษาในโรงพยาบาล อัตราการเกิดภาวะตัวเหลืองอย่างรุนแรง และค่าใช้จ่ายระหว่างเมื่อใช้แนวทางปฏิบัติกับก่อนใช้แนวทางปฏิบัติ (ม.ค.-ธ.ค. 2549) สถิติ: การเปรียบเทียบข้อมูลจำนวนวัด และจำนวนนับใช้สถิติ unpaired t-test และ Z-test (proportion test) ตามลำดับ ผลการศึกษา: มีทารกที่ได้รับการดูแลรักษาโดยใช้แนวทางปฏิบัติ 1,067 ราย อายุครรภ์และน้ำหนักแรกเกิดเฉลี่ย 38.41 ±1.30 สัปดาห์ และ 3,083.27 ±391.54 กรัม ตามลำดับทารก 837 ราย ( ร้อยละ 78.44) มารับการตรวจตามนัด ทารก 66 ราย ( ร้อยละ 6.19) กลับเข้ามารักษาในโรงพยาบาลด้วยเรื่องภาวะตัวเหลือง ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ การได้รับนมมารดาไม่เพียงพอ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลกับก่อนใช้แนวทางปฏิบัติพบว่า เมื่อใช้แนวทางปฏิบัติ อัตราการเกิดภาวะตัวเหลืองอย่างรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลต่อทารกคลอด 1,000 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนใช้ แนวทางปฏิบัติ สรุป: การใช้แนวทางปฏิบัติทำให้สามารถติดตามทารกเพื่อประเมินภาวะตัวเหลืองได้ดีขึ้น จึงเพิ่มโอกาสการวินิจฉัยภาวะตัวเหลืองอย่างรุนแรง แต่ทำให้ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลในการดูแลรักษาทารกที่มีภาวะตัวเหลืองเพิ่มขึ้น การแก้ปัญหาจึงควรมุ่งเน้นที่การใช้แนวทางปฏิบัติควบคู่ไปกับการแนะนำช่วยเหลือมารดาที่มีปัญหาการให้นมมารดา เพื่อลดสาเหตุของภาวะตัวเหลืองจากการที่ทารกได้รับนมมารดาไม่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดภาวะเหลืองอย่างรุนแรงและลดค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล
ที่มา
เวชสารแพทย์ทหารบก ปี 2551, October-December
ปีที่: 61 ฉบับที่ 4 หน้า 185-192
คำสำคัญ
Clinical Practice Guideline, Neonatal hyperbilirubinemia, Jaundic, ตัวเหลืองในทารกแรกเกิด, ตัวเหลือง, แนวทางการปฏิบัติในการดูแลรักษา