ค่ารักษาพยาบาลในผู้ป่วยเด็กมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อในโรงพยาบาลเทียบกับกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อในโรงพยาบาล
ธิดา วงศ์ทองเหลือ*, เพณณินาท์ โอเบอร์ดอร์เฟอร์
Weangpapao Hospital, Weangpapao, Chiang Rai
บทคัดย่อ
 
ความเป็นมา: ผู้ป่วยเด็กมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักมีภูมิต้านทานต่ำจากการได้รับเคมีบำบัด ทำให้เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาลได้ง่าย การติดเชื้อในโรงพยาบาลทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น และมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จำนวนวันที่นอนโรงพยาบาล แหล่งและเชื้อที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในโรงพยาบาลและผลการรักษาในผู้ป่วยเด็กมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อในโรงพยาบาล
 วัสดุและวิธีการ: ผู้ป่วยเด็กมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เข้ารับการรักษาในแผนกกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ระหว่างธันวาคม พ.ศ. 2548 ถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2549 ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อในโรงพยาบาลตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ The Center for Disease Control and Prevention
ผลการศึกษา: การศึกษานี้ได้ศึกษาผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระยะเวลาตั้งแต่ ธันวาคม พ.ศ. 2548 ถึง พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วยกลุ่มที่มีการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อในโรงพยาบาลในอัตราส่วน 1:3  มีผู้ป่วยทั้งหมด 22 คนในกลุ่มติดเชื้อซึ่งเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมด 35 ครั้ง ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ติดเชื้อมีจำนวน 94 คน ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมด 105 ครั้ง  พบว่า ค่ารักษาพยาบาลคิดค่าเฉลี่ยเป็นบาทต่อครั้งของการรักษาตัวในโรงพยาบาลรวมทั้งหมดของผู้ป่วยเด็กมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อในโรงพยาบาลสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญ(p-value < 0.001)  คือ183,767.06 บาทต่อครั้งของการนอนโรงพยาบาล เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีการติดเชื้อในโรงพยาบาลเสียค่าใช้จ่าย12,371.00บาท โดยค่าใช้จ่ายที่มากที่สุด คือ ค่า service charges ซึ่งรวมค่าห้อง ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าอาหารและอื่น ๆ รองลงมา คือ ค่ายา (medication) ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ(laboratory investigations) ค่าภาพถ่ายรังสี (radiological cost) ตามลำดับและ มีจำนวนค่าเฉลี่ยวันนอนโรงพยาบาล 54 วันมากกว่ากลุ่ม ผู้ป่วยเด็กมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่มีการติดเชื้อในโรงพยาบาล 9 วันอย่างมีนัยสำคัญ (p-value < 0.005) โดยมีผลต่างถึง 45 วัน
สรุป:  ผู้ป่วยเด็กมะเร็งเม็ดเลือดขาว มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและมีอัตราตายมากขึ้น ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ควรเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาลและตระหนักถึงการให้ความสำคัญด้านมาตรการในการลดการเกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาล เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล และลดอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อในโรงพยาบาล
 
ที่มา
วารสารกุมารเวชศาสตร์ ปี 2551, October-December ปีที่: 47 ฉบับที่ 4 หน้า 252-261