ประสิทธิผลของแผนจำหน่ายต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
ดวงรัตน์ วัฒนกิจไกรเลิศ, ละเอียด จารุสมบัติ*, วันเพ็ญ พิชิตพรชัยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้ เป็นการศึกษาแบบสองกลุ่มวัดผลก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของแผนจำหน่ายต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุกกั้นเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยอายุรกรรม โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดจำนวน 30 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองโดยการจัดเข้ากลุ่ม กลุ่มละ 15 ราย กลุ่มทดลองเป็นกลุ่มที่ได้รับการวางแผนจำหน่ายจากผู้วิจัย ส่วนกลุ่มควบคุมเป็นกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองได้แก่แผนจำหน่ายและคู่มือการดูแลตนเองในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล และแบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย และวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม
ผลการวิจัยพบว่าภายหลังการทดลองผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการวางแผนจำหน่ายมีคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) ผลการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า การวางแผนจำหน่ายควรทำตั้งแต่วันแรกของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจนกระทั่งแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ และติดตามเยี่ยมเพื่อปรับแผนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย หรือส่งต่อหน่วยปฐมภูมิเพื่อการดูแลที่ต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยและผู้ดูแลควรมีส่วนร่วมในการวางแผนจำหน่ายในทุกขั้นตอน เพื่อให้สามารถนำแนวทางการจัดการกับภาวะเจ็บป่วยไปปฏิบัติได้จริงที่งาน และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาวต่อไป
ที่มา
วารสารพยาบาลโรคหัวใจและทรวงอก ปี 2549, January-June
ปีที่: 17 ฉบับที่ 1 หน้า 31-42
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Discharge planning program, Patients with Chronic Obstructive Pulmonary Disdease, ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, การวางแผนจำหน่าย