ศึกษาเปรียบเทียบผลของการเปลี่ยนชุดสายต่อเครื่องช่วยหายใจทุก 3 วันกับทุก 7 วัน ต่ออุบัติการณ์เกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจและค่าใช้จ่าย ในหออภิบาลการหายใจอายุรกรรม โรงพยาบาลศิริราช
วันดี ละอองทิพรส*, พวงทอง ศิริพานิช, สุวรรณา ศรยิงไกล, เยาวลักษณ์ จุฑารัตน์, เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ
Medicine Nursing Division, Nursing Department, Siriraj Hospital, Bangkok
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบอุบัติการณ์เกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ และค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนชุดสายต่อเครื่องช่วยหายใจ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภายใน 1 เดือนและอัตราการมีชีวิตของผู้ป่วยเกิน 1 เดือน ภายหลังออกจากหออภิบาลการหายใจ ในผู้ป่วยที่เปลี่ยนชุดสายต่อเครื่องช่วยหายใจทุก 3 วันและทุก 7 วัน
วิธีการศึกษา การศึกษาเป็นแบบ Retrospective interrupted time series with control chart โดยรวบรวมข้อมูลย้อนหลังของการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ ในหออภิบาลการหายใจอายุรกรรม ตั้งแต่เดือนเมษายน 2546 ถึงเดือนมิถุนายน 2547 (15 เดือน) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนชุดสายต่อเครื่องช่วยหายใจทุก 3 วัน และระหว่างเดือนกรกฎาคม 2547 ถึงเดือนกันยายน 2548 (15 เดือน) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนชุดสายต่อเครื่องช่วยหายใจทุก 7 วัน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนชุดสายต่อเครื่องช่วยหายใจ เพศ อายุ จำนวนวันนอน อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในหออภิบาลการหายใจ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภายใน 1 เดือน และอัตราการมีชีวิตเกิน 1 เดือนภายหลังออกจากหออภิบาลการหายใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติไคสแควร์ และใช้แผนภูมิควบคุม Ucontrol chart ในการประเมินความผันแปรของอัตราการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ
ผลการศึกษา พบว่าผู้ป่วยที่เปลี่ยนชุดสายต่อเครื่องช่วยหายใจทุก 3 วันเกิดอุบัติการณ์ปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ 17.38 ครั้งต่อ 1,000 วันที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ การเปลี่ยนทุก 7 วันเกิดอุบัติการณ์ปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ13.67 ครั้งต่อ 1,000 วัน ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เมื่อนำมาทดสอบทางสถิติพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน (p = 0.926, Odds Ratio = 0.977, 95% CI = .604-1.582) และจากแผนภูมิ U-control chart พบว่าอัตราการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจต่อเดือนของทั้งสองกลุ่ม มีการกระจายอยู่ภายในเส้นของเขตควบคุมค่าสูงต่ำ และไม่มีรูปแบบผิดปกติจำเพาะ (special cause) นั่นคือไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญทางสถิติของอัตราการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ สำหรับตัวแปร เพศ อายุ จำนวนวันนอน อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในหออภิบาลการหายใจ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภายใน 1 เดือน และอัตราการมีชีวิตเกิน 1 เดือน ภายหลังออกจากหออภิบาลการหายใจ ไม่พบความแตกต่างกันทั้งสองกลุ่ม ส่วนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนชุดสายต่อเครื่องช่วยหายใจทุก 3 วันและ 7 วันต่อปี เท่ากับ 550,026.52 บาทและ 195,820.96 บาทตามลำดับ ดังนั้นการเปลี่ยนชุดสายต่อเครื่องช่วยหายใจทุก
7 วัน ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 354,205.56 บาทต่อปี
สรุปผลการศึกษา การเปลี่ยนชุดสายต่อเครื่องช่วยหายใจจากทุก 3 วัน เป็นทุก 7 วัน ไม่มีผลต่อการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจและจำนวนวันนอน แต่กลับทำให้ได้ใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า คุ้มทุน และช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศิริราช ปี 2552, January-June ปีที่: 3 ฉบับที่ 1 หน้า 15-24
คำสำคัญ
Pneumonia, ปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ, Ventilator associated pneumonia, Ventilator circuit, Mechanical ventilator, ชุดสายต่อเครื่องช่วยหายใจ, เครื่องช่วยหายใจ, ปอดอักเสบ